นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษเผยดมกลิ่นตด อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง, โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อมได้ แต่เมื่ออ่านดีๆจะพบว่า นักวิจัยกลุ่มนี้สร้างสารประกอบที่เลียนแบบแก๊สที่มีอยู่ในตดเท่านั้น
ผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Medicinal Chemistry Communications ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ในอังกฤษ เปิดเผยว่า แม้แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่เกิดจากกระบวนการย่อยอาหารของแบคทีเรียจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า หรือแก๊สในกระเพาะอาหาร แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นตามธรรมชาติในร่างกายของคนเรา และอาจเป็นสิ่งที่ใช้ไขปัญหาสุขภาพที่นำไปสู่การรักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง, ป้องกันโรคหัวใจวาย, อัลไซเมอร์ หรือแม้แต่ช่วยป้องกันสภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
แม้ว่าการสูดดมแก๊สนี้ในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นพิษ แต่นักวิจัยกลุ่มนี้เชื่อว่า กลิ่นตดที่ลอยจางๆเข้าจมูก อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่กล่าวมาข้างต้นได้ โดยมีผลในการปกป้องไมโตคอนเดรีย พวกเขาจึงสร้างสารประกอบขึ้นมาเพื่อเลียนแบบผลในการรักษาโครของแก๊สชนิดนี้ขึ้น ให้ชื่อกับสารนี้ว่า AP39 ซึ่งจะส่งแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์อย่างอ่อนๆ ไปยังไมโตคอนเดรียโดยเฉพาะ
ด้าน รศ.ดร.พลังพล คงเสรี จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะว่า แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ มีความสำคัญในร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ร่างกายมีการผลิตแก๊สตัวนี้ได้เองในปริมาณต่ำ เพื่อใช้ในกระบวนการส่งสัญญาณทางชีววิทยาระดับเซลล์ เช่น เมื่อเซลล์ถูกทำให้เสียหาย ไฮโดรเจนซัลไฟด์จะช่วยในการทำงานของไมโตคอนเดรีย และทำให้เซลล์ไม่ถูกทำลาย มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ในสมองของคนไข้อัลไซเมอร์ มีปริมาณของไฮโดรเจนซัลไฟด์ลดลงมาก การเพิ่มปริมาณแก๊สที่ว่าในหนูทดลองที่เป็นอัลไซเมอร์ ทำให้อาการของโรคดีขึ้น ส่วนในการทำงานของหัวใจ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ จะไปกระตุ้นการผลิตแก๊สอีกชนิดคือ ไนตริกออกไซด์ ซึ่งในที่สุดจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวและเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดอาการหัวใจขาดเลือด ที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า นักวิทยาศาสตร์เขาศึกษาและเข้าใจการทำงานของสารเคมีตัวเล็ก คือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่เหม็นแต่มีประโยชน์ แต่สารไฮโดรเจนซัลไฟด์นี้ผลิตขึ้นภายในเซลล์ไม่ได้มาจากนอกร่างกายจากการผายลม