ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียรายงานโดยอ้างจากผลวิจัยและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ  ว่ากรุงเทพอาจเริ่มจมน้ำภายในเวลา 15 ปีนับจากนี้ ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของภาครัฐไม่ยั่งยืน 

สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียรายงานโดยอ้างจากผลวิจัยและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ  ว่ากรุงเทพอาจเริ่มจมน้ำภายในเวลา 15 ปีนับจากนี้ ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของภาครัฐไม่ยั่งยืน 

บทความดังกล่าวอ้างถึงผลวิจัยจากสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เผยแพร่ในปี 2015 ที่ชี้ว่ากรุงเทพมีความเสี่ยงที่จะเริ่มอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลภายในระยะเวลาไม่ถึง 15ปี โดยขณะนี้กรุงเทพตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 0.5-2 เมตรเท่านั้น และจมลงอีกปีละ 1-2 เซนติเมตร ขณะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 4 มิลลิเมตรต่อปี 

ตามข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยงานที่ให้คำแนะนำเรื่องภาวะโลกร้อน ที่ก่อตั้งโดยองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)ระบุว่า ปลายศตวรรษที่ 21 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เมตร 

สำหรับเหตุผลที่ทำให้กรุงเทพฯจมลงปีละ 1-2 เซนติเมตรต่อปีนั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น รวมถึงการสร้างตึกสูงและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นดินไม่สามารถรับน้ำหนักไว้ได้ เนื่องจากกรุงเทพเป็นที่ราบลุ่ม มีชั้นดินที่ง่ายต่อการทรุดตัวอยู่แล้ว



สำหรับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ บทความนี้ได้สัมภาษณ์ ด.ร.รอยล จิตรดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งกล่าวว่าจะต้องทำให้ชั้นผิวดินของกรุงเทพฯได้รับน้ำมากขึ้น เพราะจะทำให้ชั้นดินคงความชื้นและเกาะตัวไว้ได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นชั้นดินที่แห้งและทำให้ทรุดตัวได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพฯแทบจะทุกพื้นที่ถูกฉาบด้วยคอนกรีต ขัดขวางไม่ให้น้ำไหลลงสู่ชั้นใต้ดิน นอกจากนี้ ยังทำให้ฝนที่ตกลงมากลายเป็นน้ำท่วม หรือไหลลงสู่แม่น้ำหรือทะเล ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก

นอกจากในกรุงเทพฯแล้ว เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยังเกิดขึ้นหลายครั้ง  โดยหนึ่งในเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2011 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศกว่า 800 ราย และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 12 ล้านคน 

สำหรับการแก้ปัญหาการทรุดตัวของชั้นดินของรัฐบาลในทางกฎหมาย บทความนี้ได้ยกตัวอย่างการออกพ.ร.บน้ำบาดาล ห้ามสูบน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงในกรุงเทพฯ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หรือในบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเท่านั้น และยังมีแคมเปญกระตุ้นให้เจ้าของที่ดิน ติดตั้งถังเก็บน้ำไว้เก็บน้ำฝนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนเท่าใดนัก

นอกจากกรุงเทพแล้ว พื้นที่โดยรอบของกรุงเทพฯเริ่มเกิดปัญหาน้ำทะเลท่วมเช่นเดียวกัน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเป็นที่สนใจของสื่อต่างชาติ คือชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ในอ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ที่ห่างจากกรุงเทพฯเพียง 50 ก.ม.เท่านั้น ที่ขณะนี้พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านได้ถูกน้ำท่วมกลายเป็นทะเลไปแล้ว ทำให้ผู้อยู่อาศัยบางคนต้องย้ายที่อยู่ถึง 8 ครั้ง 


สาเหตุที่ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เกิดน้ำท่วม คาดว่าน่าจะมาจากการทำลายป่าชายเลน  และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ชาวชุมชนได้สร้างกำแพงไม้ไผ่และคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวได้

หนึ่งวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักว่าปัญหาดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาวิจัยแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog