ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มชาวเลอุรักลาโว้ย ในจ.ภูเก็ต กำลังถูกนายทุนบุกรุกที่อยู่ ที่ทำกิน รวมถึงสุสาน จนปัจจุบันกลุ่มชาวเลต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

กลุ่มชาวเลอุรักลาโว้ย ในจ.ภูเก็ต กำลังถูกนายทุนบุกรุกที่อยู่ ที่ทำกิน รวมถึงสุสาน จนปัจจุบันกลุ่มชาวเลต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก


นานกว่า 40 ปีแล้ว ที่กลุ่มชาวเลอุรักลาโว้ย กลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่บนเกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมหน้าหลุมศพบรรพบุรุษบนเกาะเฮ นับตั้งแต่ย้ายที่อยู่อาศัยเพราะเกิดโรคระบาดเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และโดนขับไล่จากนายทุนที่อ้างเอกสารสิทธิ์การครอบครองพื้นที่ ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บุกรุก ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่สุสานได้

 

ซึ่งครั้งนี้ ทายาทชาวเลอุรักลาโว้ย ซึ่งแต่ละคนอายุ เฉลี่ย80-90 ปี ได้มีโอกาสกลับเข้ามาประกอบพิธีกรรมสักการะวิญญาณบรรพบุรุษตามความเชื่อ ขณะที่สุสานของกลุ่มชาวเล ได้แปรสภาพเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว

 

แย๊ะ อาปัง หญิงชรา ชาวเลอุรักลาโว้ย วัย 80 ปี หนึ่งทายาทชาวเลที่มีถิ่นกำเนิดบนเกาะเฮ เดินหาหลุมศพพ่อและแม่ของตน ซึ่งเดิมเคยปลูกต้นมะพร้าวและต้นมะขามเป็นสัญลักษณ์ แต่สิ่งที่พบคือต้นมะพร้าวถูกหักโคนไปโดยไม่รู้สาเหตุ เหลือร่องรอยเพียงเล็กน้อยที่พอคาดเดาได้ แย๊ะ อาปังจึงได้ผูกเชือกเพื่อสักการะวิญญาณพ่อแม่

 

นอกจากการทำสัญลักษณ์หลุมศพแล้ว เขายังทำพิธีปือตั๊ดญีไร๊ หรือการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านเพื่อบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งเดิมจะมีพิธีในเดือน3ถึงเดือน 11 ของทุกปี  นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวเล เช่น กาหยง โต๊ะหมอ และทำความสะอาดสุสาน โดยครั้งนี้กลุ่มชาวเลอุรักลาโว้ยรุ่นหลานได้มีโอากาสทำพิธีกรรมสักการะบรรพบุรุษเป็นครั้งแรก

 

ขณะเดียวกัน ภาษาอุรักลาโว้ยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติพันธุ์กำลังจะสูญหาย เพราะชาวเลอุรักลาโว้ยที่อายุต่ำกว่า 30 ปี  รู้สึกเขินอายและไม่มั่นใจที่จะพูดภาษาถิ่น ทำให้กลุ่มอุรักลาโว้ยรุ่นเก่าพยายามสอนเพื่อให้มีการสืบทอด

 

ปัจจุบัน ชาวอุรักลาโว้ย ตั้งรกรากที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตร่วมกว่า 100 ปี ผู้ชายจะออกเรือประมง ดำน้ำลึกกว่า 30เมตร เพื่อให้ผู้หญิงได้นำอาหารทะเลมาวางแผงขาย เช่นกุ้งมังกร และหอยเป๋าฮื้อ  มีนำรายได้จุนเจือครอบครัว แต่ด้วยปัญหาเขตอนุรักษ์ทำให้ไม่สามารถทำประมงได้เต็มที่  ส่งผลให้ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ รวมทั้งปัญหาการถูกรุกรานที่อยู่ของนายทุน เพราะชาวเลไม่มีเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดิน โดยพื้นที่ชุมชนแออัดของชาวเลอุรักลาโว้ย 19ไร่  244 ครัวเรือน ต้องอยู่ในสภาพไร้ห้องน้ำไร้ไฟฟ้า มีน้ำขังตลอดปี ส่งผลให้สุขภาวะชาวเลอุรักลาโว้ยป่วยเรื้อรัง 

 

ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการตกสำรวจ จึงไม่ได้รับรัฐสวัสดิการเหมือนประชาชนทั่วไป หรือเปรียบได้ว่ากลุ่มชาวเลคือผลกระทบจากการพัฒนาเมือง หรือ ความจนบนเกาะสวรรค์นั่นเอง  พรทิพย์ โม่งใหญ่ วอยซ์ทีวี รายงาน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog