ไม่พบผลการค้นหา
เปิดประวัติศาสตร์การฆ่าด้วยยาพิษ จากยุคกรีกโบราณถึงกรณีลอบสังหารพี่ชายผู้นำเกาหลีเหนือ

เปิดประวัติศาสตร์การฆ่าด้วยยาพิษ จากยุคกรีกโบราณถึงกรณีลอบสังหารพี่ชายผู้นำเกาหลีเหนือ

เมื่อย้อนไปดูกรณีการสังหารด้วยยาพิษนั้น มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ มาจนถึงสายลับของโซเวียต และกรณีล่าสุดอย่างการสังหาร คิมจองนัม พี่ชายต่างมารดาของ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือด้วยยาพิษ ที่สนามบินประเทศมาเลเซีย ยาพิษเป็นหนึ่งในอาวุธยอดนิยมที่นักฆ่าเลือกใช้ในการสังหารเป้าหมายมาอย่างยาวนานด้วยฤทธิที่รุนแรงและสามารถลอบทำได้อย่างแนบเนียน

เรื่องนี้เกิดขึ้นราวกับออกมาจากนวนิยายสายลับ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้กล่าวว่า นักฆ่าสาวได้สังหารญาติผู้ลึกลับของผู้นำเกาหลีเหนือด้วยยาพิษที่ร้ายแรง โดยข่าวรายงานว่า เธอพ่นยาพิษลงบนใบหน้าของเขา และการชันสูตรศพเริ่มขึ้นในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์

นักฆ่าสามารถเลือกใช้ยาพิษที่มีฤทธิรุนแรงถึงตายได้หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งบางชนิดก็หาได้ง่าย เช่น ไรซิน สารพิษที่สามารถสกัดได้จากเมล็ดละหุ่ง แทลเลี่ยม(ยาเบื่อหนู) ก็เป็นยาพิษที่ขึ้นชื่อในการใช้สังหารเช่นเดียวกัน หรือจะเป็น สารหนู (Arsenic) ที่จะทำให้ตายอย่างช้าๆ และทรมาณ ในขณะที่ สตริกนิน (strychnine) ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกรุนแรงพร้อมกับภาวะหายใจล้มเหลว

พญ. คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์และผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมของประเทศไทยกล่าวว่า ผู้เสียชีวิต มีเลือดสีแดงสด ซึ่งในการชันสูตรศพถือเป็นสัญญาณบอกว่าอาจเกิดจากการได้รับพิษไซยาไนด์

” ไซยาไนด์ เป็นยาพิษที่ทำให้เสียชีวิตได้เร็วที่สุดและตรวจสอบง่ายที่สุดเช่นกัน เพราะจะมีสิ่งบ่งบอกเกิดขึ้นทั่วร่างกาย” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

สารเคมีอื่นๆ อย่าง โพแทสเซียม ก็สามารถทำให้เกิดอาการ “หัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงจนนำไปสู่หัวใจวายได้ในเวลาอันรวดเร็ว” แต่พิษที่ออกฤทธิช้าจะช่วยให้นักฆ่าหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุได้ก่อนถูกจับได้

คุณหญิงพรทิพย์กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามสารเคมีเหล่านี้เก็บรักษาหรือจับต้องลำบาก หลายชนิดมีสารตกค้าง กลิ่นและสี ซึ่งกลบเกลื่อนได้ยาก

แอปเปิ้ล ร่ม และไวน์

เรื่องราวของการวางยาพิษ ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ต่างมีตำนานของตัวเอง การวางยาพิษกลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในการลอบสังหารปรปักษ์ทางการเมือง เพื่อแก้แค้นหรือการฆ่าอย่างเลือดเย็น นักเขียนชื่อดังอย่าง เชคสเปียร์ มักจะให้ตัวละครของเขาตายด้วยยาพิษ ในขณะที่สโนวไวท์ผู้ตายจากการกินแอปเปิ้ลอาบยาพิษก็เป็นอุทธาหรณ์ถึงความริษยา

ในชีวิตจริงนั้น นักวิชาการยังคงถกเถียงกันว่า พระนางคลีโอพัตราตายจาก สารหนู หรือ พิษจากงูเห่าตัวเล็ก (asp) สารพิษใดอยู่ในไวน์ที่ฆ่าพระเจ้าเอล็กซานเดอร์มหาราช หรือสารพิษที่พบบนผนังเป็นสิ่งที่ปลิดชีพจักรพรรดินโปเลียนจริงหรือไม่ และในยุควิกตอเรีย เหล่าแม่บ้านผู้กลัดกลุ้ม ก็ขึ้นชื่อเรื่องการใส่สารหนูลงไปในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อกำจัดบรรดาสามีที่ใช้ความรุนแรง

เหตุการณ์การสังหารจากยาพิษที่โด่งดังในยุคต่อๆ มาเกิดขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต ในปี 2521 จอร์จี มาร์คอฟ นักเขียนผู้วิจารณ์รัฐบาลบัลแกเรีย เสียชีวิตจากการถูกปลายร่มอาบสารไรซินแทงบนถนนในลอนดอน และปัจจุบันนักฆ่ายังคงลอยนวล

ในปี 2549 รัฐบาลรัสเซียถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารในอังกฤษ โดยนาย อเล็กซานเดอร์ ลิกวิเนนโค อดีตสายลับของรัสเซียและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ตายอย่างช้าๆ จากการดื่มน้ำชาที่มีรังสี พอโลเนียม-210

ส่วนในเอเชีย ปี 2538 เกิดเหตุการณ์สมาชิกลัทธิมืดชาวญี่ปุ่น ทิ้งถุงพลาสติกที่บรรจุสาร ซาริน (sarin) เหลว ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในโตเกียว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบ และเก้าปีต่อมา มูเนียร์ ซาดิด ธาลิป นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอินโดนีเซีย ถูกลอบวางยาพิษขณะกำลังเดินทางจากกรุงจาการ์ต้า ไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัม

ถ้าการคาดการณ์ของหัวหน้าหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ถูกต้อง เกาหลีเหนือจะถูกจารึกเป็นตำนานบทใหม่ของประวัติศาสตร์การวางยาพิษเช่นกัน.

 

Source: AFP

Photo: AFP

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog