ยูเอ็นเตือนว่าปีนี้ การก่อการร้ายในอาเซียนจะเกิดบ่อยขึ้น หากอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือด้านการปราบปรามการก่อการร้ายที่มีประสิทธิภาพมากพอ
เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เตือนว่า ปีนี้ การก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียนจะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มไอเอสหรือดาอิชเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เห็นได้จากปีที่ผ่านมา มีคนที่สนับสนุนกลุ่มไอเอสในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยมากขึ้น
เมื่อฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายในอิรักและซีเรียถูกโจมตีอย่างหนัก นักรบต่างชาติก็เดินทางกลับบ้านเกิดกันมากขึ้น เพื่อมาก่อเหตุในประเทศตัวเอง ซึ่งจะทำให้คนจากประเทศอาเซียนกว่า 1,000 คนที่ไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอสกลับประเทศด้วยเช่นกัน และอาจใช้การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพอย่างในอินโดนีเซียและมาเลเซีย หรือความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนาอย่างในรัฐยะไข่มาปลุกปั่นกลุ่มหัวสุดโต่งให้เข้าร่วม
เจ้าหน้าที่ยูเอ็นระบุว่า ช่วงหลังมานี้ กลุ่มก่อการร้ายมักใช้วิกฤตชาวโรฮิงญามาสร้างความชอบธรรมให้กับแนวคิดหัวสุดโต่ง ส่งผลให้มีความพยายามโจมตีเมียนมามากขึ้น รวมถึงเกิดการประท้วงและความวุ่นวายในมาลเซียและอินโดนีเซีย
เดือนมกราคมที่ผ่านมา หัวหน้าหน่วยปราบปรามการก่อการร้ายของมาเลเซียเพิ่งออกมาเตือนว่า เมียนมาเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกลุ่มไอเอสที่อ้างกับเครือข่ายในภูมิภาคนี้ ว่า ทำไปเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา นอกจากนี้ มาเลเซียยังจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มไอเอสที่วางแผนว่าจะไปก่อเหตุร้ายในเมียนมาได้ด้วย
ปีที่แล้ว อินโดนีเซียสามารถจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยว่าร่วมกลุ่มก่อการร้ายเพิ่มขึ้น 2 เท่า อยู่ที่ 170 คน ขณะที่มาเลเซียก็พบนักรบต่างชาติจากซีเรียและอิรักที่พยายามแทรกซึมเข้ามาในประเทศ และยังเกิดเหตุก่อการร้ายโดยกลุ่มเครือข่าย IS เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย ด้านฟิลิปปินส์ก็มีเหตุระเบิดและลักพาตัวมากขึ้นโดยกลุ่มอาบูไซยาฟ ที่ประกาศสวามิภักดิ์กับกลุ่มไอเอส ส่วนไทยก็มีเหตุโจมตีมากกว่า 800 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 600 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้