ไม่พบผลการค้นหา
อย. เผยผลตรวจโรงงานลูกชิ้นปลาหลายยี่ห้อ ย่านสมุทรสาคร มีส่วนผสมปลาปักเป้า หลังเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจ สั่งดำเนินคดีโรงงานทันที

อย. เผยผลตรวจโรงงานลูกชิ้นปลาหลายยี่ห้อ ย่านสมุทรสาคร  มีส่วนผสมปลาปักเป้า หลังเก็บตัวอย่างสุ่มตรวจ สั่งดำเนินคดีโรงงานทันที


นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ตรวจสอบโรงงานลูกชิ้นปลายิ้ม สถานประกอบการเลขที่ 98 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ในขณะตรวจพบการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องคือ ไม่แสดงวันผลิต หรือวันหมดอายุ ได้แก่ ปลาเส้นตราปลายิ้ม ลูกชิ้นปลาตราหงส์ทอง ลูกชิ้นปลาตราหนุ่มร้อยแรง และปลาเส้นตราหงส์ทอง เจ้าหน้าที่จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างดังกล่าวและเนื้อปลาแล่เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์พบว่าตัวอย่างเนื้อปลาแล่เป็นปลาปักเป้าสายพันธุ์ L.spadiceus และพบปริมาณสารพิษเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) เท่ากับ 1.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ปลาเส้นตราปลายิ้ม พบเป็นปลาปักเป้าสายพันธุ์ L.spadiceus และ Llunaris พบปริมาณสารพิษเตโตรโดท็อกซิน น้อยกว่า 0.100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ลูกชิ้นปลาตราปลาหงส์ทอง พบเป็นปลาปักเป้าสายพันธุ์ L.spadiceus พบปริมาณสารพิษเตโตรโดท็อกซิน น้อยกว่า 0.100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ลูกชิ้นปลาตราหนุ่มร้อยแรง พบเป็นปลาปักเป้าสายพันธุ์ L.spadiceus แต่ไม่พบปริมาณสารพิษเตโตรโดท็อกซิน และ
ปลาเส้นตราหงส์ทองพบเป็นปลาปักเป้าสายพันธุ์ L.spadiceus และ L.lunaris แต่ไม่พบปริมาณสารพิษ
เตโตรโดท็อกซิน

 

อย.จึงได้แจ้งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ 2 ข้อหา คือ ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายที่มีการแสดงฉลาก ไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท


เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนให้ผู้ผลิตระวังในเรื่องของการแสดงฉลาก กรณีไม่แสดงวันผลิตหรือวันหมดอายุ ถึงแม้จะไม่มีเจตนา เช่น เครื่องพิมพ์เสียแต่ก็ต้องมีมาตรการแก้ไขให้สามารถแสดงฉลากได้อย่างถูกต้อง และไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่ทราบว่าเป็นปลาปักเป้าเพราะสั่งปลามาจากล้งเนื่องจากเป็นความ รับผิดชอบของผู้ผลิต โดยผู้ผลิตต้องมีมาตรการตรวจสอบหรือสอบถามว่าวัตถุดิบนั้นเป็นปลาปักเป้าหรือไม่ ซึ่งเป็นอาหารที่ห้ามผลิตและจำหน่าย เพราะนอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคอีกด้วย

 

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคต้องการซื้อเนื้อปลา ให้เลือกซื้อเนื้อปลาที่คุ้นเคย มีวิธีสังเกตง่าย ๆ เบื้องต้น หากเป็นเนื้อปลาแล่ที่เป็นปลาปักเป้า ลักษณะเนื้อจะนูนคล้ายสันในไก่ ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาบริโภค กรณีเป็นผลิตภัณฑ์ เนื้อปลา เช่น ลูกชิ้น ปลาเส้น ให้พิจารณาว่าอยู่ในภาชนะบรรจุที่มีฉลากระบุแหล่งผลิตที่ชัดเจนมีเครื่องหมาย อย.

 

ข้อมูลข่าว : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา/moph.go.th(image)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog