ไม่พบผลการค้นหา

Thailand

เสียงจากแดนประหาร
Jan 20, 2017
( Last update Jan 20, 2017 09:47 )
โทษประหาร คำที่พูดง่ายสำหรับชาวโซเชียลที่เสพข่าวอาชญากรรม หรือในบทสนทนาเหนือหน้าหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวประเภท "ไอ้เหี้ยม" "ฆ่าโหด" "โจรทมิฬ" "ไอ้คลั่งยา" แต่รู้หรือไม่ การประหารชีวิตมีความหมายอย่างไรสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับมันจริงๆ?

โทษประหาร คำที่พูดง่ายสำหรับชาวโซเชียลที่เสพข่าวอาชญากรรม หรือในบทสนทนาเหนือหน้าหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวประเภท "ไอ้เหี้ยม" "ฆ่าโหด" "โจรทมิฬ" "ไอ้คลั่งยา" แต่รู้หรือไม่ การประหารชีวิตมีความหมายอย่างไรสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับมันจริงๆ?

 

เรือนจำกลางบางขวาง ไม่ใช่ที่ที่ใครจะเข้าไปง่ายๆ และก็ไม่ใช่ที่ที่ใครจะอยากเข้าถ้าไม่มีเหตุจำเป็น เพราะกว่า 80 ปีมาแล้วที่สถานที่แห่งนี้เป็นเรือนจำเดียวในเมืองไทยที่คุมขังนักโทษประหาร และเป็นสถานที่ประหารชีวิต ในเมื่อช่วงนี้ใครๆก็พูดถึงโทษประหารชีวิต ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมในการป้องกันการก่ออาชญากรรมซ้ำซาก แม้แต่โพลของนิด้า ก็พบว่าคนไทยถึงเกือบร้อยละ 90 สนับสนุนโทษประหารชีวิต นี่จึงเป็น "เหตุจำเป็น" ที่ทีมข่าววอยซ์ทีวี จะต้องเข้าคุกบางขวาง เพื่อสาดแสงไปยังมุมมืดที่สุดมุมหนึ่งของสังคม ดูกันว่านักโทษประหารคิดอย่างไรกับการที่คนไทยชอบการประหารชีวิต


บางขวาง ที่พำนักสุดท้ายของนักโทษประหาร

ประตูเรือนจำบางขวางทาสีทองอร่ามสดใส ไม่ได้ลดทอนความหนักหน่วงทางอารมณ์สำหรับผู้ที่ก้าวเท้าเข้าไปในสถานที่แห่งนี้ แม้เราจะรู้ว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะได��กลับออกมาสู่อิสรภาพ อาจจะเพราะกำแพงหนาสูงลิ่ว ที่มีลวดหนามและสายไฟความเร็วสูงอยู่ด้านบนเพื่อป้องกันนักโทษปีนหนี ล้อมอยู่ถึง 4 ชั้น หรืออาจจะเพราะเจ้าหน้าที่ที่มีสีหน้าเคร่งขรึมรายล้อมเราอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาความปลอดภัย จนทีมข่าวได้สัมผัสรสชาติแบบนักโทษเล็กๆ นั่นก็คือการมีผู้คุมคอยสอดส่องดูแลตลอดเวลา

นักโทษจำนวนไม่น้อยในบางขวาง เป็นชาวต่างชาติ ในภาพจะสังเกตได้ว่าหนึ่งในนักโทษเป้นชาวแอฟริกัน แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับนักโทษต่างชาติเหล่านี้

นักโทษจำนวนไม่น้อยในบางขวาง เป็นชาวต่างชาติ ในภาพจะสังเกตได้ว่าหนึ่งในนักโทษเป็นชาวแอฟริกัน แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับนักโทษต่างชาติเหล่านี้

ในเรือนจำบางขวางแบ่งเป็นหลายแดน แต่ละแดนจะอยู่ติดกัน แต่มีรั้วรอบขอบชิดแยกจากกันอย่างชัดเจน ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเด็ดขาด แดนสำหรับนักโทษประหารมี 2 แดนคือแดน 2 และแดน 5 ซึ่งเป็นไปตามกฎสากลที่จะต้องไม่ขังนักโทษที่เป็นคู่ความกันไว้ในแดนเดียวกัน เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่ง สร้างความวุ่นวายหรืออันตรายต่อกัน

ประภาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเรือนจำกลางบางขวาง สองข้างเป็นสถานที่เยี่ยมญาติ

ปัจจุบันไทยมีนักโทษประหาร 253 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติอย่างน้อย 10 ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด และคดีความมั่นคง ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกนักโทษคดีก่อวินาศกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่ไม่มีการประหารชีวิตนักโทษในประเทศไทย เพราะระบบการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ทำให้นักโทษส่วนใหญ่ได้รับการลดหย่อนโทษเป็นจำคุกแทนการประหารชีวิต

เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณที่นักโทษใช้ชีวิตอยู่ เนื่องจากอันตรายเกินไป แต่นักโทษถูกนำมายังสนามหญ้าหน้าแดน 5 และที่นี่ คือที่ที่เราได้สัมภาษณ์นักโทษประหาร 3 คนถึงชีวิตในแดนสนธยาแห่งนี้ และความคิดเห็นที่พวกเขามีต่อโทษประหารชีวิต

แดน 5 ดินแดนของผู้ต้องโทษประหารชีวิต มีทั้งคดีก่อการร้าย ยาเสพติด และฆาตกรรม


เสียงจากนักโทษประหาร

สัน ชายร่างใหญ่ ผิวคล้ำ ท่าทางกร้านโลก อายุ 50 ปี เขาต้องโทษประหารชีวิตจากการพัวพันในขบวนการค้ายาเสพติด สันติดคุกมาแล้ว 2 ปี และนับวันรอที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือไม่ก็วันที่เขาจะถูกประหาร จากที่เคยท้อแท้สิ้นหวัง ตอนนี้สันเริ่มทำใจได้จากการได้ศึกษาธรรมะในเรือนจำ สันบอกว่าเขาใช้ประสบการณ์ตัวเอง เขียนจดหมายสอนลูกที่อยู่นอกเรือนจำ ให้คิดดี ทำดี จะได้ไม่ต้องทำผิดเหมือนพ่อ


อมร เป็นชาวม้งจากสามเหลี่ยมทองคำ เชียงราย เขาเห็นเพื่อนได้ดิบได้ดีจากการรับจ้างขนยา ด้วยความอยากรวย จึงตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางของนักขนยาข้ามแดน อมรรับงานขนเฮโรอีน 195 กิโลกรัม ถือเป็นยาเสพติดล็อตใหญ่ เขาถูกจับได้ และต้องโทษประหารชีวิต อมรใช้ชีวิตกว่า 2 ปีในห้องขังเดี่ยว ถูกใส่โซ่ตรวน ก่อนจะถูกส่งมายังเรือนจำบางขวางในฐานะนักโทษประหาร ญาติพี่น้องที่เคยมาเยี่ยม หลังจากผ่านไปปีสองปี ก็หายหน้าหายตาไปหมด ตอนนี้อมรอยู่ในเรือนจำมา 5 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีวันไหนที่เขาหลุดพ้นจากความคิดที่ว่าตนเองจะต้องถูกประหาร อมรบอกว่าหลายครั้งคนเราทำผิดเพราะสิ่งแวดล้อม เพราะความยากจนบังคับ เขาหวังว่าจะได้รับโอกาสให้แก้ตัว ไม่ใช่ตายจากไปพร้อมกับความผิดเพียงครั้งแรก


วัน เป็นนักโทษที่พิเศษกว่าอีก 2 คน เขาต้องโทษประหารชีวิตจากคดีจ้างวานฆ่าที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ถูกซัดทอด วันไม่ได้พูดแม้แต่คำเดียวว่าเขาถูกใส่ร้ายหรือไม่ แต่สีหน้าและแววตาซื่อตรงตามวิสัยตำรวจเก่า ทำให้นักโทษประหารคนนี้เป็นอีกคนที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่าที่ผ่านมา มีนักโทษประหารกี่คนที่ถูกรัฐคร่าชีวิตไปโดยที่ไม่มีความผิด วันโชคดีกว่าสันและอมร เขาเพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้ใส่ชุดสีฟ้า อันหมายถึงนักโทษที่ต้องโทษจำคุก แทนสีกากีของนักโทษประหาร

วันเป็นอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต เพราะเขาก็คิดเหมือนอมร คนที่ทำผิดสมควรได้รับโอกาสแก้ตัว และในฐานะที่เคยเป็นทั้งผู้รักษากฎหมายและเป็นนักโทษ เขาไม่เห็นว่าโทษประหารชีวิตจะช่วยลดอาชญากรรมได้ เพราะเมื่อคนจะทำผิด มักไม่คิดถึงผลที่จะตามมาอยู่แล้ว


แดนประหาร

การคุยกับนักโทษประหารทั้งสาม ทำให้เราเข้าใจถึงความหนักหน่วงของโทษประหารมากกว่าแค่คำพูดลอยๆตามหน้าสื่อหลายเท่า แต่แม้แต่นักโทษทั้งสาม ก็ไม่เคยมีใครได้เห็นสถานที่อีกแห่งที่เราได้ไปเยือน "แดนประหาร"

แดนประหาร จริงๆแล้วเป็นแค่ตึกชั้นเดียวเตี้ยๆตั้งเคียงคู่กัน 2 ตึก ตึกแรกคือห้องยิงเป้า ที่ปิดป้ายไว้ว่า "สถานที่หมดทุกข์" ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2478-2545 แม้สถานที่จะใหม่ด้วยการตกแต่ง แต่ที่นี่คือสถานที่จบชีวิตนักโทษ 319 ราย ปัจจุบันห้องยิงเป้ากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อมๆสำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งนานทีปีหนจะมีสักครั้ง นอกจากการตกแต่งผนังและพื้นใหม่ ทุกอย่างยังถูกรักษาไว้ในสภาพเดิม ตั้งแต่ปืนยิงเป้า ซึ่งเป็นปืนกล หรือปืนอัตโนมัติ Hecklor & Koch รุ่น MP5 การยิงเป้าจะยิงครั้งละ 5-10 นัด เป็นชุด ผ่านผ้าผืนบางๆที่กั้นกลางระหว่างเพชฌฆาตและนักโทษ

หลักประหาร ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งประจำเรือนจำบางขวาง เบื้องหลังม่านสีน้ำเงินคือกระสอบทรายที่ใช้รับลูกกระสุนที่ทะลุผ่านตัวนักโทษ

ผ่านไป 15 ปีแล้วนับตั้งแต่การประหารชีวิตด้วยปืนครั้งสุดท้ายของประเทศไทย แต่ร่องรอยของกระสุนยังฝากไว้บนผืนผ้าที่ขาดวิ่น และหลักประหาร ที่แม้จะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ก็ยังแหว่งด้วยแรงกระสุนนับสิบๆนัด


ข้างๆห้องยิงเป้า คือตึกประหารชีวิตด้วยการฉีดยา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน วิธีนี้ได้รับการยอมรับว่ามีมนุษยธรรมมากที่สุดในการประหารชีวิตทั้งหมด แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาจะสูงกว่า โดยการยิงเป้านักโทษ 1 ราย ใช้งบประมาณ 4,900 บาท แบ่งเป็นเงินรางวัลสำหรับเพชฌฆาต 4,500 บาท และค่ากระสุน 400 บาท แต่การฉีดยา จะใช้งบถึง 12,364 บาท แบ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้ประหาร 10,000 บาท และค่ายา 2,364 บาท จนถึงปัจจุบัน มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเพียง 6 ราย

หลักประหารจะมี 2 หลักเสมอ ตั้งแต่หลักยิงเป้า มาจนถึงเตียงประหารชีวิตด้วยการฉีดยา ฝั่งขวาของห้องคือห้องที่ผู้ประหารจะกดปุ่มเดินยา และฝั่งซ้ายคือห้องสำหรับพยาน และผู้สังเกตการณ์

ภาพสุดท้ายที่นักโทษประหารจะได้เห็นจากบนเตียงประหาร ก่อนการฉีดยา

ห้องประหารชีวิตด้วยการฉีดยา มีสภาพเหมือนโรงพยาบาลมากกว่าห้องประหารนักโทษ แต่ก็คงไว้ซึ่งบรรยากาศหดหู่ซึมเซาไม่ต่างจากห้องยิงเป้ามากนัก ห้องประหารจะมีเตียงประหาร 2 เตียงสำหรับนักโทษ แต่ในช่วงเวลาที่ประหาร จะไม่มีใครอยู่ในห้องนี้นอกจากนักโทษเท่านั้น พยาน ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด และตำรวจ อัยการ จะอยู่ในห้องพยานที่อยู่ติดกัน มีกระจกใสกั้น ส่วนผู้ประหารก็จะอยู่ในห้องตรงข้าม แพทย์จะเป็นผู้เตรียมยา ซึ่งประกอบด้วยยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ และโพแทสเซียม คลอไรด์ ยาหยุดการเต้นของหัวใจ ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ประหาร จะเป็นผู้กดปุ่มเดินยา สีเขียว เหลือง และแดง เจ้าหน้าที่จะมี 3 คน และไม่มีใครทราบว่าคนไหนเป็นผู้กดปุ่มที่ทำให้นักโทษสิ้นชีวิต เพื่อลดภาระกดดันทางจิตใจของผู้ประหาร

ปุ่มกดเดินยาสำหรับการประหารชีวิตนักโทษ

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะลั่นไก หรือกดปุ่มปลิดชีวิตคนคนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่แดนประหารมักทราบอยู่แก่ใจว่านักโทษคนนั้นทำผิดจริงหรือไม่


เราออกจากแดนประหารมาด้วยคำถามหนึ่งในใจ คำถามที่ว่านักโทษที่ทำผิดร้ายแรงแค่ไหน จึงควรแก่การรับโทษประหาร โทษทัณฑ์ที่ไม่อาจถอยหลังหรือเรียกคืน และต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่หน้าแดนประหาร ก็ยิ่งทำให้คำถามนั้นเด่นชัดมากขึ้น

เจ้าหน้าที่เรือนจำบางขวางเล่าให้เราฟังว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้ หนึ่งในนักโทษคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ปลูกไว้ โดยเอารากชี้ฟ้า ยอดฝังดิน พร้อมกับให้สัตย์สาบานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และขอให้ต้นโพธิ์ต้นนี้งอกงามเพื่อเป็นประจักษ์พยานในความบริสุทธิ์นั้น

เวลาผ่านไปกว่า 6 ทศวรรษ ต้นโพธิ์ต้นนี้ยังงอกงาม และได้เป็นประจักษ์พยานการเดินทางครั้งสุดท้ายของคนนับร้อย จนกว่าจะถึงวันที่ไทยไม่มีโทษประหารชีวิตอีกต่อไป

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog