เผยโลมาอิรวดีในเมียนมาเหลือราว 60 ตัวส่อแววสูญพันธุ์ ชี้เหตุเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ ซ้ำถูกล่าด้วยวิธีช็อตไฟฟ้า ตัดโอกาสชาวบ้านหารายได้จากท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เวลานี้ โลมาอิรวดีในประเทศเมียนมาเหลือแค่ 62 ตัวหลังจากตายไปมากถึง 3 ตัวเมื่อปีที่แล้ว นับเป็นปีที่สูญเสียสัตว์ชนิดนี้มากที่สุด
ในกรณีประเทศลาว กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ว่า โลมาอิรวดีมีสถานะ ‘สูญพันธุ์โดยพฤตินัย” (‘functionally extinct’) เนื่องจากแจงนับครั้งหลังสุดได้เพียง 3 ตัว
โลมาอิรวดีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กระจายพันธุ์อยู่ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเลทั่วย่านเอเชียใต้ กินแดนตั้งแต่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย จนถึงตอนใต้ของอินโดนีเซีย
@ ชาวเมียนมาสัญจรในแม่น้ำอิรวดี ใกล้เมืองมัณฑะเลย์
จ่อ การ์ ผู้ช่วยหันหน้าแผนกประมงของทางการเมืองมัณฑะเลย์ บอกว่า ประชากรโลมาอิรวดีลดลงเพราะมลพิษจากเหมืองแร่ทองคำในรัฐกะฉิ่นทางต้นน้ำ ซึ่งมีการสำรวจเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังรัฐบาลทหารพ้นไปเมื่อปี 2554 อีกทั้งยังมีน้ำปนเปื้อนสารเคมีจากปุ๋ยทำการเกษตรลงสู่แหล่งน้ำด้วย
อย่างไรก็ตาม บรรดาชาวประมงพื้นบ้านบอกว่า พวกแก๊งอันธพาลที่หาปลาด้วยวิธีช็อตไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรีรถยนต์ในละแวกเมืองมัณฑะเลย์เป็นตัวการสำคัญ การกระทำดังกล่าวมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับประมาณ 5,000 บาท
@ วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี
หม่อง เลย์ ชาวประมงวัย 55 บอกกับเอเอฟพีในกระท่อมไม้ไผ่ห่างจากมัณฑะเลย์โดยทางเรือราว 2-3 ชั่วโมง ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน โลมาจ่าฝูง ชื่อ ทาร์ จี มา กลายเป็นซากบนชายฝั่งแม่น้ำอิรวดี เมื่อชาวบ้านผ่าซากดู พบว่ามันกำลังตั้งท้อง
เขาเล่าในอาการน้ำตาคลอว่า ตัวเองผูกพันกับมันมาก มันมักช่วยไล่ต้อนปลาให้ว่ายติดตาข่าย ตัวอื่นๆในฝูงซึ่งมีทั้งหมด 7 ตัวต้อนปลาไม่เก่งเท่ามัน ตอนพบว่ามันตาย เขานำดอกไม้ไปลอยในแม่น้ำเป็นการอำลา
@ โลมาอิรวดีจับฝูงแหวกว่าย
เอเอฟพีรายงานว่า การลดลงของจำนวนโลมาอิรวดี ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นด้วย
ธันต์ ซิน ผู้จัดการโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำโครงการล่องเรือชมโลมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เขาฝึกอบรมชาวบ้านในหลายหมู่บ้านริมฝั่งอิรวดีให้เรียนรู้การทำอาหาร การทำที่พัก และการนำทาง “นี่เป็นธุรกิจสำคัญสำหรับชุมชน”
ชาวประมงบางคนบอกว่า การช็อตไฟฟ้าทำให้โลมาไม่กล้าเข้าใกล้คนอย่างแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ต้องดูพวกมันในระยะไกลๆ.
Photos: AFP