คำเปรียบเทียบที่ว่า 'แพะรับบาป' , 'จับแพะ' , 'แพะ' ทำไมจึงต้องเป็นแพะด้วย วันนี้ทีมงานเว็บไซต์วอยซ์ ทีวี มาช่วยไขข้อสงสัย
"แพะรับบาป" สำนวนนี้กลับมาพูดติดปากอีกครั้งจากกรณี ข่าวครูสาวติดคุก 1 ปีครึ่งด้วยข้อหาขับรถชนคนตาย ทั้งที่ตัวเองไม่มีความผิด จึงเรียกครูสาวท่านนี้ว่าเป็น "แพะ"
ที่มาของคำว่าแพะรับบาป ตามที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ในคอลัมน์ สยามประเทศไทย ของมติชน ว่า พิธีฆ่าแพะบูชายัญ เรียกชื่อว่า แพะรับบาป พบเมื่อ ค.ศ. 1530 ตรงกับยุคต้นอยุธยา พ.ศ.2073 และมีคำอธิบายในหนังสือ ปรักปรำศาสตร์ เขียนโดย ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ที่ว่า "แพะรับบาป ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย วิลเลียม ทินเดล ผู้แปลพระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับปี 1530 เขาคิดคำนี้ขึ้นเพื่ออธิบานพิธีกรรมวันไถ่บาปของชาวยิวในหนังสือเลวีนิติที่มีการบูชายัญแพะสองตัว
ตัวแรกใช้บูชายัญถวายพระยาห์เวห์พระเจ้าของชาวยิว เพื่อที่พระองค์จะได้ยกโทษให้ชาวอิสราเอล แพะตัวนี้เป็น "บรรณาการไถ่บาป" และการบูชายัญก็เป็นการกระทำเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ซากที่เหลือจะถูกเผาทิ้งนอกบริเวณชุมชน
ตัวที่ 2 อุทิศให้อาซาเซล เทพเจ้าแห่งโลกหลังความตาย แพะตัวนี้จะถูกนำออกไปปล่อยไว้นอกเขตหมู่บ้าน หลังจากนั้นแพะรับบาปก็แพร่หลาย แล้วถูกนำไปใช้ในความหมายต่างๆกัน แต่ที่สำคัญ คือใช้เรียกคนที่ถูกปรักปรำ (เป็นแพะ) ให้รับบาปแทนคนอื่นว่า แพะรับบาป
อีกที่มาของแพะรับบาป ในเว็บไซต์สำนักราชบัณฑิตยสถาน เขียนโดย สำรวย นักการเรียน ในจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 9 ฉบับที่ 102 พฤศจิกายน 2542 บอกถึงที่มาของคำนี้ว่า แพะรับบาป เป็นพิธีปฏิบัติ ในวันลบบาปประจำปีของชาวอิสราเอล ซึ่งเริ่มการปุโรหิตถวายวัวเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของตนเองและครอบครัว เมื่อเสร็จพิธีแล้วปุโรหิตจะทำแพะ 2 ตัว ไปถวายพระเป็นเจ้าที่ประตูเต็นท์นัดพบ และจำเป็นผู้จับฉลากเลือกแพะ 2 ตัวนั้น
โดย สลากที่ 1 เป็นสลากสำหรับแพะที่ถวายแก่พระเป็นเจ้าอีกสลากหนึ่งเป็นสลากสำหรับแพะรับบาป หากสลากแรกตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกฆ่าและถวายเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของประชาชน เรียกว่า “แพะไถ่บาป”
ส่วนสลากที่ 2 หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นเรียกว่า “แพะรับบาป” ซึ่งปุโรหิตจะถวายพระเป็นเจ้าทั้งยังมีชีวิตอยู่ แล้วใช้ทำพิธีลบบาปของประชาชนโดยยกบาปให้ตกที่แพะตัวนั้นเสร็จแล้วก็จะปล่อยแพะตัวนั้นให้นำบาปเข้าไปในป่าลึกจนทั้งแพะและบาปไม่สามารถกลับมาอีก (ลนต. 16 : 6–10 15–22)
ส่วนในศาสนาฮินดู เซอร์มอเนียร์ วิลเลียมส์ สันนิษฐานว่า การฆ่ามนุษย์บูชายัญคงไม่เป็นที่ถูกอัธยาศัยพื้นฐานของพวกอารยัน คัมภีร์พราหมณะจึงอธิบายว่าเทวดาฆ่ามนุษย์ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญก็ออกไปจากมนุษย์เข้าสู่ร่างม้า ม้าจึงกลายเป็นสัตว์ที่เหมาะสมจะใช้ฆ่าบูชายัญ เมื่อฆ่าม้า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชาก็ออกจากตัวม้าไปเข้าสู่ร่างโค เมื่อฆ่าโค ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชา ก็ออกจากตัวโคไปเข้าสู่ร่างแกะ จากแกะไปสู่แพะ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชา คงอยู่ในตัวแพะนานที่สุด เพราะฉะนั้น แพะจึงกลายเป็นสัตว์เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ฆ่าบูชายัญ ซึ่งก็ทำให้เห็นที่มาอีกแห่งหนึ่งของคำว่า “แพะรับบาป”
อย่างไรก็ตาม คำว่า “แพะรับบาป” หมายถึง ผู้ที่มิได้กระทำผิด แต่กลับต้องเป็นผู้รับโทษ หรือรับความผิดที่ผู้อื่นกระทำไว้ ที่มาของคำนี้ปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวอิสราเอลผู้มีภูมิหลังเป็นผู้เลี้ยงแพะ แกะเป็นอาชีพ