'ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์' ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 71 ปี จากภาวะติดเชื้อรุนแรง
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2538 ซึ่งถึงแก่กรรมเนื่องจากภาวะติดเชื้อรุนแรง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่โรงพยาบาลธนบุรี สิริอายุรวม 71 ปี กำหนดพิธีสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม เวลา 19.30 น. ณ ศาลา 1 วัดอินทราวาส (ประดู่) แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ทั้งนี้ สวธ.ได้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ในวันที่ 13 ธันวาคม เวลา 16.00 น. ณ เมรุวัดอินทราวาส (ประดู่) แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
นางพิมพ์รวีกล่าวว่า สวธ.มีเงินสวัสดิการสำหรับผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมที่เสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศล 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเงินสนับสนุนการจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 80,000 บาท”
นางพิมพ์วรีกล่าวอีกว่า นายดวงแก้วเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะประติมากรรมชิ้นสำคัญ เป็นผู้ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ด้วยการบุกเบิกการนำไฟเบอร์กลาสมาใช้ทำหุ่นขี้ผึ้งซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศร้อนของประเทศไทย
สำหรับประวัตินายดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2538 เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2488 ได้ชื่อว่าเป็นช่างปั้นฝีมือโดดเด่น สร้างสรรค์งานปั้นสำคัญๆ ไว้หลายชิ้น เช่น ปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ปั้นอนุสาวรีย์กรมพระราชวังบวรฯ ประดิษฐาน ณ กองบัญชาการกองพล 9 จ.กาญจนบุรี เป็นต้น เป็นผู้ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งในเมืองไทย หลังจากทดลองทำแล้วประสบปัญหาในเรื่องของสภาพอากาศ ฝุ่นละอองซึ่งเป็นอันตรายต่อความสวยงาม และความคงทนของตัวหุ่น แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงพยายามทดลองใช้วัสดุต่างๆ กระทั่งได้ทดลองนำไฟเบอร์กลาสมาทดแทนขี้ผึ้งด้วยกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้น ทำให้หุ่นที่ทำด้วยไฟเบอร์กลาสมีคุณภาพดีกว่าหุ่นขี้ผึ้ง ซึ่งไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
นายดวงแก้วเป็นหนึ่งในผู้ที่ทุ่มเทความรู้ความสามารถ และกำลังทรัพย์ จัดสร้างพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยขึ้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยสร้างสรรค์หุ่นในชุดต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตไทย ศิลปะ วัฒนธรรมและเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยได้ทุ่มเทความรู้ และความสามารถทางสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียง เกียรติคุณทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ปรากฏทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2538
ภาพโดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ภาพโดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ภาพโดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ภาพโดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ที่มาภาพนายดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย