ไม่พบผลการค้นหา
ใบตองแห้งชี้ โจทย์ใหญ่ของระบบรักษาพยาบาลข้าราชการคือการใช้จ่ายทีสิ้นเปลือง แต่แนวคิดใช้บริษัทประกันภัยเอกชนมาดูแลเงินทุนแทนอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี และอาจเผชิญปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าหรือเคลมค่าใช้จ่ายไม่ได้

ใบตองแห้งชี้ โจทย์ใหญ่ของระบบรักษาพยาบาลข้าราชการคือการใช้จ่ายทีสิ้นเปลือง แต่แนวคิดใช้บริษัทประกันภัยเอกชนมาดูแลเงินทุนแทนอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี และอาจเผชิญปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าหรือเคลมค่าใช้จ่ายไม่ได้

นายอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง นักวิเคราะห์ประจำรายการใบตองแห้งออนแอร์ ระบุว่า ปัญหาที่ผ่านมาของระบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการคือการใช้งบประมาณสูงเกินกว่าที่ตั้งไว้ โดยปี 2558 ข้าราชการจำนวน 2.2 ล้านคนรวมครอบครัวแล้ว ราว 6 ล้านคน ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลไปถึง 67,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 12,000 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ทางกระทรวงการคลังกำลังผลักดันคือให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ก็อาจจะเผชิญปัญหาเช่นที่เกิดกับ พ.ร.บ. ประกันภัยบุคคลที่ 3 ซึ่งมีปัญหาเบิกจ่ายไม่ได้เพราะไม่เข้าเงื่อนไขบริษัทประกัน หรือเบิกจ่ายล่าช้า จนผู้ป่วยต้องเลือกใช้สิทธิการรักษาจากกองทุน 30 บาท หรือบัตรทองแทนเป็นต้น และที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยก็ได้กำไรและค่าบริหารจัดการทุนประกันภัยหลายพันล้านบาท   

ในอีกทางหนึ่ง กลุ่มประชาสังคมที่รณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพก็มีข้อเสนอว่า กองทุนรักษาพยาบาลราชการควรจะบริหารจัดการโดยองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. โดยยกตัวอย่างข้าราชการองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ใช้ระบบประกันสุขภาพที่จ่ายหัวละ 6,000 บาทต่อปี และ สปสช. สามารถบริหารจัดการโดยคิดค่าบริหารจัดการกองทุนเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น ขณะที่ข้าราชการก็สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่ล่าช้า

อย่างไรก็ตาม นายอธึกกิตชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด แต่สิ่งที่ข้าราชการต้องรู้คือ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้นจะไม่สะดวกง่ายดายและมีข้อจำกัดน้อยกว่าการดูแลสุขภาพในระบบอื่นอย่างที่ผ่านมาอีกแล้ว

ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการไทย

ปี 2558  ใช้งบรักษาค่าพยาบาลไป 66,000 ล้านบาท (เฉลี่ยราวคนละ 30,454 บาทต่อข้าราชการ 1 ครอบครัว หรือราว 12,000 บาทต่อคน )

ปี 2559 งบประมาณอาจอยู่ที่ราวๆ 70,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ก็เกิน 60,000 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งส่วนที่เกินก็ต้องใช้เงินคงคลังมาจ่าย แล้วค่อยขอตั้งงบประมาณใช้คืนในปีต่อ ๆ ไป

ปี 2560 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 60,000 ล้านบาท จากที่เสนอขอไปที่ 67,000 ล้านบาท

(ข้อมูลจากนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ")

หลักการเบื้องต้นในการให้บ.ประกันภัยเอกชนเข้ามาบริหาร

  • บริษัทประกันจะรวมตัวเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการทั้งหมด
  • โดยยังต้องรักษากับโรงพยาบาลของรัฐบาลเป็นหลัก ยังไม่ให้ขยายไปยังโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เงินยังหมุนเวียนในหน่วยงานของรัฐ
  • เงื่อนไขที่สำคัญคือ สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลต้องเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม และค่าเบี้ยประกันจะต้องไม่มากกว่าที่รัฐบาลจ่ายปีละ 7 หมื่นล้านบาท
  • เริ่มใช้ระบบนี้ในเดือน ต.ค. 2560 หรือปีงบประมาณ 2561
  • จะว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาบริหารว่า จะมีการทำสัญญาเป็นรายปี หรือ ทำสัญญาเป็นเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี

แนวคิดของเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ

  • รัฐใช้เงิน 60,000 ล้านบาทจ่ายค่ารักษาให้ข้าราชการและครอบครัวเพียง 6 ล้านคนหรือคนละ 10,000บาท/ปี
  • ขณะที่คนอีก 48 ล้านคนที่ใช้ระบบบัตรทอง รัฐจ่ายปีละ 140,000 ล้านบาท หรือคนละ 3,000 บาทต่อปี
  • หากรัฐเลือกที่จะใช้เงิน 60,000 ล้านบาทไปให้บริษัทเอกชน จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการให้กับเอกชน

ข้อเสนอคือ

  • ข้อเสนอคือเอาเงิน 6 หมื่นล้านที่จะไปจ่ายให้บริษัทเอกชน มารวมกับเงิน 1 แสน 4 หมื่นล้าน ของบัตรทอง และ อีก 5 หมื่นล้านของประกันสังคม แล้วบริหารจัดซื้อระบบหลักประกันสุขภาพโดยรัฐเอง
  • มุ่งเน้นไปที่การซื้อบริการจากโรงพยาบาลรัฐ ส่วนการบริหารจัดการก็มีหน่วยงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารอยู่แล้ว จะได้ประโยชน์มากกว่า มีความเป็นธรรมได้จริง
  • และเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ตามเป้าหมายการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้

อ่านเพิ่มเติม

โอน 60,000 ล้าน ซื้อประกันสุขภาพให้ข้าราชการ เหมาะสมเพียงใด

คลังรื้อค่ารักษาพยาบาลขรก. ซื้อประกันภัยกลุ่ม 10 ล้านคน

‘หมอมงคล’ ค้านโยก 7 หมื่นล้านให้ 'บ.ประกัน' ดูค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ

ชำแหละประกันเอกชนดูสิทธิรักษา ขรก. ประหยัดเพื่อสร้างกำไร ไม่มี สร้างนำซ่อม

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog