ไม่พบผลการค้นหา
มองการล้างจานในโรงเรียนญี่ปุ่น ในฐานะส่วนหนึ่งในการขัดเกลาความเห็นแก่ตัวและสร้างวินัยในการอยู่ร่วมกับคนอื่น

การไม่ชอบล้างจานอาจไม่ใช่แค่ปัญหาความขี้เกียจ แต่สะท้อนจิตสำนึกต่อสาธารณะด้วย คำ ผกา หยิบประเด็นขำๆ จากกระทู้ในพันทิป มามองอีกมุม ซึ่งการฝึกเด็กในโรงเรียนญี่ปุ่นให้ล้างจานและทำความสะอาด เป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาความเห็นแก่ตัวและสร้างวินัยในการอยู่ร่วมกับคนอื่น

*บล็อก In Her View คือเรื่องราวและทัศนะต่อประเด็นที่เป็นกระแสทั่วทุกมุมโลก จากรายการ In Her View โดย คำ ผกา

 

                             


 

 

มีคนไปโพสต์กระทู้ขำ ๆ ในพันทิปว่าเด็กไทยเดี๋ยวนี้เป็น “โรคไม่ชอบล้างจาน”

 

สงสัยว่าจะล้อเลียน บทความในแนว “เด็กไทยเป็นโรคกลัวความลำบาก”  ที่เป็นกระแสกันอยู่พักหนึ่ง อันทำให้สงสัยว่า ภาวะเด็กถูกเลี้ยงมาแบบสปอยล์ ประคบประหงมนี่ถือว่าเป็น “โรคภัย” อย่างหนึ่งเชียวหรือ  จะบอกว่าเป็นปัญหาของสังคม ของพ่อแม่ นั้นใช่แน่ๆ แต่เป็น “โรค” ไม่น่าจะใช่ อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ จะไม่ได้ไปถกเถียงเรื่องนี้ แต่อยากพูดเรื่อง “เด็กไม่ล้างจาน”

 

อันที่จริง เทคนิคการสอนให้เด็กรู้จักช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัว นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในนิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่สมัยใหม่มาโดยตลอด (ที่ต้องพูดว่าสมัยใหม่เพราะ เรื่องการช่วยทำงานบ้านของเด็ก มันเกี่ยวพันกับมโนทัศน์ที่มีต่อเด็กของแต่ละสังคม ของแต่ละยุคสมัยด้วย เช่น อายุเท่าไหร่จึงนับว่าเป็นเด็ก ในสมัยที่คนมีลูกกันตั้งแต่อายุ 13 คงไม่มีใครมานั่งคิดว่า ทำไมเด็กไม่ล้างจานหรือมทำงานบ้าน เพราะในยุคสมัยเช่นนั้น คนอายุห้าขวบ หกขวบ ก็อาจจะต้องทั้งช่วยพ่อแม่ เลี้ยงน้อง เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ฯลฯ)

 

แต่ประเด็นที่รายการ In Her View อยากนำเสนอมาจากข้อสังเกตของตัวแขกเองในสมัยที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งในมหาวิทยาลัย ส่วนที่เป็น Graduate School (สถาบันระดับปริญญาโทขึ้นไป) จะมีห้องครัว บวกห้องนั่งเล่น บวกห้องกินข้าว ที่เป็นห้องส่วนกลาง สำหรับ นักเรียน เจ้าหน้าที่ อาจารย์ มานั่งกินข้าว ดื่มชา ดื่มเหล้า ไปจนถึงจัดปาร์ตี้เล็กๆ สามารถซื้อของมาทำอาหารได้ หากจัดปาร์ตี้ต้องจองห้องล่วงหน้าและระบุว่าจะเริ่มกี่โมงจะจบกี่โมง

 

ห้องนี้มีตู้เย็น มีเครื่องครัวครบครัน ไปจนถึงมีตู้เก็บจานชาม ถ้วย  แก้ว อย่างสวยงาม  สามารถจัดปาร์ตี้ได้อย่างสวยงาม

 

ข้อที่คนไทยไม่คุ้นเคยเลยคือ การดูแลห้องหับเหล่านี้ เราไม่มีแม่บ้านหรือภารโรง ทว่าห้องสะอาดมากตลอดเวลา ไม่เคยมีของหาย จานหาย ช้อนหาย มีดหาย หม้อหาย ซิงก์ล้างจาน ก็สะอาดเอี่ยม ปราศจากขยะ ผ้าขี้ริ้วก็ถูกซักแขวนอย่างเป็นระเบียบทุกครั้ง  ในห้องจะมีกระดาษเอ 4 พิมพ์กฎระเบียบว่าด้วยการใช้ การล้าง การเก็บ และคู่มือเกี่ยวกับการเปิดน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำกรอง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างละเอียด บอกวิธีเก็บ ล้าง ทำความสะอาด และนั่นแปลว่า ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัด โดยเสมอหน้ากันไม่ว่าคุณจะเป็น ศาสตราจารย์ หรือ เป็นนักเรียน หรือเป็นเจ้าหน้าที่ ทุกคนต้องล้างจานเอง เหมือนๆ กันหมด   

 

อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุว่าหากไม่ปฏิบัติตามกฎเหล่านี้จะมีบทลงโทษอย่างไร และอย่างไรก็ตาม (อีกครั้งหนึ่ง) ยังไม่พบว่า ไม่มีใครไม่ปฏิบัติตามกฎ

 

ข้อสังเกตส่วนตัวอีกประการหนึ่งจากประสบการณ์ตรงคือ เพื่อนนักเรียนผู้ชายญี่ปุ่น โดยมากแล้วจะถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่เคยต้องทำงานบ้าน  ยิ่งถ้าคุณเป็นโปรเฟซเซอร์ งานบ้านเป็นหน้าที่ของภรรยา ไม่มีวันที่โปรเฟซเซอร์ผู้ชายจะล้างแม้แต่ช้อนสักคัน แต่เมื่อมาใช้ข้าวของส่วนกลางในมหาวิทยาลัย  ก็ต้องล้าง เก็บ ด้วยตนเอง ไม่มีข้อยกเว้น

 

เพื่อนหลายคนโดยเฉพาะเพื่อผู้ชาย บ้านรกมาก สกปรกมาก ซกมกมาก  อาจถึงขั้นหมกจานชามไว้ล้างเดือนละครั้ง แต่พอต้องมาใช้ห้องครัวกลาง จานชามของกลาง มาจัดปาร์ตี้ที่ห้องส่วนกลาง พวกเขาจะเก็บล้าง แยกขยะ เช็ดซิงก์ เช็ดจาน แก้ว เก็บเข้าตู้ เก็บหม้อ เก็บกระติกน้ำร้อนเข้าที่อย่างเรียบร้อย ขยะเอาไปทิ้งหมดจด และเห็นกับตาว่า ต่อให้เมาแค่ไหน ก็ลุกมาทำความสะอาดจนเสร็จ – แม้จะมีมิติทางเจนเดอร์เล็กน้อยว่าคนที่ดูแลความเรียบร้อยขั้นสุดท้ายมักตกเป็นหน้าที่ของนักเรียนผู้หญิงที่เมาน้อยกว่าคนอื่น

 

สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับที่เห็นที่เมืองไทย

 

ประสบการณ์กับคนไทย – ขอไม่เหมารวม เอาเป็นว่า ส่วนหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นส่วนใหญ่หรือเปล่า – ฉันพบว่า คนไทย มักดูแลบ้านช่อง ข้าวของตัวเองอย่างดี แต่ถ้าเป็นของใช้ส่วนกลาง จะใช้อย่างถลุงไม่กลัวพัง รถตัวเอง ทนุถนอมรักษา แต่ถ้าเป็นรถสำนักงานจะรู้สึกว่าใช้ให้สมบุกสมบันอย่างไรก็ได้ ไอแพดตัวเองห่ออย่างดี เช็ดอย่างดี ถ้าเป็นไอแพดของที่ทำงาน ใช้ไป โยนไป ถือว่า ไม่ใช่เงินเรา ทั้งหมดรวมไปถึงเครื่องใช้ไม้สอยส่วนกลางทุกสิ่งอัน ที่มักถูกปู้ยี่ปู้ยำ พังก็พังไป ไม่ใช่องกู

 

จึงไม่แปลกใจที่คนไทยสามารถเอาขยะไปทิ้งในสวนบ้านคนอื่น หน้าบ้านคนอื่น ทิ้งข้างถนน ทิ้งลงแม่น้ำ เพราะถือว่า นั่นเป็นของกลาง ไม่ใช่ของเรา

 

ฉันเคยตกใจมาก เมื่อเคยไปในออฟฟิศแห่งหนึ่งตอนเช้าตรู่แล้วมันเต็มไปด้วย จานชาม แก้วน้ำที่ไม่ได้ล้าง เศษขนม ห่อขนมที่แกะแล้วแต่กินไม่หมด วางสะเปะสะปะไม่หมด ไม่นับการเกลื่อนกระจายของ จาน ชาม หม้อหุงข้าว ที่ปิ้งขนมปัง ถุงกาแฟ ขนม ของฝาก ที่ใครๆต่อใครหอบมาแล้วมันก็ถูกทิ้งให้เกลื่อนกระจายอยู่อย่างนั้น

 

สภาพของออฟฟิศแบบนี้คือภาพสะท้อนของสำนึกของทุกคนที่มากิน มาทำงานที่นี้ ด้วยสปิริตของคนที่บอกตัวเองว่า  ไม่ใช่บ้านเรา ไม่ใช่ของของเรา เราก็แค่มาทำงานแล้วกลับ ทำไมเราต้องเก็บ ทำไมเราต้องล้าง – วางๆ ไว้เดี๋ยวแม่บ้านก็มาเก็บ หรือ อาจจะคิดว่า ถึงเราเก็บ คนอื่นก็ไม่เก็บ ซึ่งก็เท่ากับว่าเรากลายเป็นคนที่คอยทำความสะอาดให้คนอื่น – ได้ไง – แบบนี้ก็เหมือนถูกคนอื่นเอาเปรียบสิ

 

แปลกไหม? ในขณะที่คนญี่ปุ่น เห็นว่า บ้านตัวเอง ไม่เก็บ ไม่เรียบร้อยไม่เป็นไร แต่ถ้าไปใช้พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ยิ่งต้องเก็บ ยิ่งต้องล้าง ยิ่งต้องระวัง ยิ่งต้องเกรงใจ!

 

อะไรทำให้คนไทยเติบโตมาด้วยสำนึกว่า ถ้าไปใช้พื้นที่ของ “คนอื่น” จะปู้ยี่ปู้ยำ จะทำให้มันโสโครกอย่างไรก็ได้ เพราะนี่ไม่ใช่บ้านเรา ทั้งๆ ที่ สิ่งที่ควรจะเป็นคือตรงกันข้าม ยิ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวม ยิ่งต้องคำนึงถึงหัวจิตหัวใจของคนอื่น ๆ ที่ต้องใช้พื้นที่นั้นร่วมกับเรา ยิ่งต้องเกรงใจ

 

การล้างจานในห้องครัวที่ใช้ร่วมกันหลาย ๆ คนนั้น หลังล้างจานต้องล้าง ต้องเช็ด ต้องเผื่อเสมอว่า คนที่มาล้างต่อจากเราจะได้รับความรู้สึกดี ๆ เป็นการให้เกียรติผู้อื่น ให้เกียรติตัวเอง

 

แต่เท่าที่ฉันเห็นคือ  มีคนไทยน้อยคนมากที่คำนึงถึงคนอื่นที่จะมาใช้งาน ใช้จาน ใช้ช้อนหลังจากเรา โดยมากเห็นแต่สะบัดก้น ปัดมือไปให้พ้นตัวเท่านั้น

 

ท่ามกลางความเห็นแก่ตัวแบบนี้ และด้วยนิสัยแบบนี้ของคนไทย สิ่งที่ฉันพบเห็นเสมอคือ มีคนที่กินข้าวแล้วไม่ล้างจาน ปล่อยให้เป็นภาระแก่เพื่อน ๆ ที่มาใช้งานต่ออยู่ข้างหลัง แต่คนแบบนี้ก็สามารถไปทำกิจกรรมจิตอาสา ทำบุญ ทำทาน บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ในเวลาเดียวกัน – ซึ่งมันประหลาดดี

 

จากเรื่องเล็กคือการล้างจานมันสะท้อนเรื่องใหญ่

 

นั่นคือสันดานของความเห็นแก่ตัวที่ถูกเพาะบ่มมา และสันดานการเอาตัวรอดโดยไม่แคร์คนอื่น ๆ ที่อยู่รวมสังคมกันกับเรา

 

มันสะท้อนสันดาน คนอื่นเป็นยังไม่สน  ขอกูรอด ขอกูสบาย และหากจะสามารถเอาเปรียบ คนอื่นได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือเป็นความสำเร็จ อีกทั้งยังมองว่า การทำอะไรเพื่อส่วนรวมเป็นการถูก “เอาเปรียบ” เป็น “ความโง่”

 

สังคมไหนที่พลเมืองมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่ส่วนรวม สังคมนั้นพัฒนาได้ยากเพราะจิตสำนึกสาธารณะไม่เกิด และเราคงปฏิเสธไมได้ว่า จิตสำนึกสาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับพัฒนาการและความเข้มแข็งของประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

 

ประชาธิปไตยเข้มแข็งไมได้ในสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่มีความคิดว่า “คนอื่นจะเป็นยังก็ช่างแต่กูต้องรอด” 

 

  • สำหรับคนที่อยากรู้ว่า คนญี่ปุ่นปลูกฝังสำนึกรับผิดชอบต่อทรัพย์สินสิ่งของที่ตนใช้ร่วมกับคนอื่น -ซึ่งหมายถึงการบ่มเพาะสำนึกให้เห็นแก่ตัวน้อยๆ เห็นแก่คนอื่นและส่วนรวมมากๆ – ได้อย่างไร? สามารถดูในคลิปนี้ ที่นักเรียนญี่ปุ่นต้องช่วยกันทำงานต่างๆ ในโรงเรียนตั้งแต่ตักอาหารกลางวันเสิร์ฟ เพื่อนๆ การล้างการเก็บ การทำความสะอาดโรงเรียนและห้องเรียน โดยไม่มีภารโรง

 

ดูรายการ IN HER VIEW : โรคไม่ชอบล้างจานหรือโรคเห็นแก่ตัว

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog