สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์นโยบายประชานิยมของรัฐบาล คสช. เพื่อช่วยเหลือชาวนาและผู้ยากไร้ในประเทศไทยว่า อาจจะช่วยเหลือชาวนาไม่ได้เท่าที่ควร เนื่องจากมาสายเกินไป
ชาวนาไทยต้องทนรับสภาพราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำสุดในรอบหลายปี ทำให้ชาวนาหลายคนไม่มีเงินลงทุนสำหรับการปลูกนาในฤดูกาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปุ๋ย ค่าแรง หรือค่าเช่าเครื่องจักร โดยข้าวเปลือกปัจจุบัน ราคาตันละ 8,039 บาท น้อยกว่าสมัยที่ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงร้อยละ 30 ซึ่งแม้ชาวนาส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพก่อสร้างนอกฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริม ก็ยังคงไม่เพียงพอกับเงินที่สูญเสียไป ทำให้ชาวนาจำนวนมากอาจต้องขายที่ดินเพื่อนำเงินไปชดใช้หนี้ที่กู้ยืมมาในการทำนา
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก วิเคราะห์ว่าราคาข้าวที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องทำให้ รัฐบาลคสช. หันมาใช้นโยบายประกันยุ้งฉางคล้ายกับนโยบายจำนำข้าวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ที่คสช.ก่อรัฐประหารยึดอำนาจมาเมื่อปี 2014 ซึ่งแม้นางสาวยิ่งลักษณ์ และ ดร. ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายที่เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน จะถูกยึดอำนาจ แต่ทั้งคู่ก็ยังได้รับความนิยมและการสนับสนุนจากประชาชนในภาคอีสานอย่างเหนียวแน่น สาเหตุหลักมาจากนโยบายจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ได้ประกันราคาข้าวเฉลี่ยสูงกว่าราคาตลาดโลกถึงร้อยละ 50 ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวนาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อซื้อเสียง จนนำไปสู่การดำเนินคดีนางสาวยิ่งลักษณ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากนโยบายจำนำข้าวกว่า 35,000 ล้านบาท
แม้รัฐบาลคสช. ประกาศว่าจะ"ล้างระบบ"การเมืองไทยให้พ้นจากการคอรัปชั่นของนักการเมืองและนโยบายประชานิยม แต่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็ได้ใช้นโยบายประชานิยม ด้วยการอัดงบกว่า 78,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาสู้ราคาข้าวตกต่ำ ด้วยการรับจำนำยุ้งฉางตันละ 13,000 บาท และลดต้นทุนในการทำนา นอกจากนี้ คสช. ยังมีนโยบายประชานิยมล่าสุดด้วยการมอบเงิน 3,000 บาท ให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อเป็นการช่วยเหลือในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง โดยบอกว่าไม่ใช่การแจกเงิน
ชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การที่คสช.ออกนโยบายช่วยเหลือชาวนาก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ว่าเป็นการช่วยเหลือที่เล็กน้อย และสายเกินไป เนื่องจากขณะนี้ชาวนาทั่วประเทศอยู่ในสภาพหนี้ท่วมตัว นอกจากนี้ระบบช่วยเหลือก็ดูยุ่งยาก และใช้เวลานาน รวมทั้งชาวนายังต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเก็บรักษาข้าวในยุ้งฉางด้วยตัวเอง
ราคาข้าวเปลือก นับว่าเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลทุกชุดให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักและมีประชาชนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการทำนากว่า 16 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งเมื่อราคาข้าวเปลือกตกต่ำลง ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากชาวนามีรายได้ลดลง ซึ่งในที่สุดรัฐบาลคสช. ก็ต้องหันมาพึ่งพานโยบาย “ประชานิยม” เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะชาวไทยยังคงขาดความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจ ท่ามกลางค่าครอลชีพที่สูงขึ้น และรายได้ที่ลดลง