พบสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ในจีน ตั้งชื่อ ‘มังกรโคลน’ ฟอสซิลบ่งชี้สัตว์โลกล้านปียังคงแตกเหล่าเผ่าพันธุ์หลากหลาย ก่อนหน้าสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน
นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์คล้ายนกชนิดหนึ่งทางตอนใต้ของจีน มีแขนคล้ายปีก มีหงอนรูปโดมบนหัว ร่องรอยบ่งบอกว่า มันติดหล่มโคลน พยายามตะกุยตะกาย แต่ไม่รอด
คนงานเจอซากขณะระเบิดหินเพื่อสร้างโรงเรียนใกล้กับเมืองกั่นโจว ลำตัวของมันยาว 2 เมตร ฟอสซิลมีสภาพสมบูรณ์
สัตว์เลื้อยคลานจากยุคครีเตเชียสตัวนี้ ถูกตั้งชื่อว่า ตงเทียนหลง ลิโมซุส เคยมีชีวิตเมื่อราว 66-72 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาตอนปลายของยุคไดโนเสาร์ที่ครองโลกนานกว่า 160 ล้านปี ก่อนเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ มันเป็นสิ่งมีชีวิตในวงศ์ โอวิแรพเตอร์ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับนก
สตีฟ บรูแซต แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระในสกอตแลนด์ รายงานในวารสาร Scientific Reports ว่า การค้นพบตงเทียนหลง และพวกโอวิแรพเตอร์อื่นๆอีก 5 ชนิดในภาคใต้ของจีน สะท้อนว่า โอวิแรพเตอร์ยังคงแตกเหล่าเผ่าพันธุ์ในช่วงไม่กี่ล้านปีก่อนดาวเคราะห์น้อยชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน
บรูแซตบอกว่า มันจมโคลนตายอยู่ในท่าที่บ่งบอกถึงการดิ้นรนเอาชีวิตรอด ลำคอคด หัวเชิด แขนเหยียด ชื่อภาษาละตินของมันมีความหมายว่า “มังกรโคลนขึ้นสวรรค์”
ตงเทียนหลงเดินด้วยสองขา บนกะโหลกสั้นๆเตี้ยๆมีกระดูกรูปหงอน อาจใช้ดึงดูดคู่ผสมพันธุ์หรือข่มขู่ศัตรู แขนมีขนอย่างของนก เรียงซ้อนกันอย่างที่เห็นบนปีก แต่มันบินไม่ได้.
Source: Reuters
Photo : Ahao CHUANF / NATURE PUBLISHING GROUP via AFP