ไม่พบผลการค้นหา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกล เจริญสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอปลานิลมาเพาะพันธุ์ในประเทศไทย และพระราชทานแก่ประชาชนให้ยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต รวมทั้งได้บริโภคอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนสูงในราคาถูก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกล เจริญสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอปลานิลมาเพาะพันธุ์ในประเทศไทย และพระราชทานแก่ประชาชนให้ยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต รวมทั้งได้บริโภคอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนสูงในราคาถูก 

ปลานิล จัดเป็นปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยคุณประโยชน์ด้านโปรตีนที่สูงถึง 5.69 กรัมต่อน้ำหนักหนึ่งออนซ์  มีโอเมก้า 3 มีไขมันอิ่มตัวต่ำ และแคลลอรี่น้อย จึงช่วยลดคลอเรสโตรอลในเส้นเลือดได้  ที่สำคัญคือหาซื้อง่าย มีรสชาติดี ปลานิล จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคทั่วไป แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วกลับไม่โปรดเสวยปลานิล ทรงมีรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร” 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของสาเหตุที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงไม่โปรดเสวยปลานิล เริ่มจากปี พ.ศ.2507 เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ต้อนรับพระจักรพรรดิอากิฮิโต ที่ขณะนั้นยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเสด็จเยือนประเทศไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเชื่อมความสัมพันธ์สองแผ่นดิน ด้วยวิธีแสนง่ายอย่างคาดไม่ถึง คือการเชิญมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น ซึ่งสนพระราชหฤทัยในเรื่องปลาอยู่แล้ว  ให้ไป"ทอดพระเนตรปลา"ด้วยกัน

"โปรแกรมชมปลา"ในครั้งนั้น ทำให้มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น ทรงพระสำราญ เกิดเป็นความประทับใจ และพัฒนากลายเป็นความสนิทสนมเป็นการส่วนพระองค์  โดยเฉพาะเมื่อได้ทอดพระเนตร "ปลาบู่มหิดล" ปลาที่ถูกค้นพบในเมืองไทย เป็นครั้งแรกของโลก

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทาน "ปลานิล" จากมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น และได้ส่งลูกปลานิลมาทางเครื่องบิน ครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงในบ่อดินภายในสวนจิตรลดา จากตั้งต้น 50 ตัว กลายเป็น 10,000 ตัว ภายในเวลา 1 ปี เพราะทรงเอาพระทัยใส่ ขุดบ่อเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง ส่งผลให้ปลานิลเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น ทรงพระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กรมประมง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน จนวันนี้ "ปลานิล" กลายเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประเทศ   

ปัจจุบันประเทศไทยมีฟาร์มปลานิล กว่า 3 แสนแห่งทั่วประเทศ  มีผู้ที่อยู่ในระบบการเลี้ยง กว่า 1 ล้านคน  คิดเป็นปริมาณกว่า 200 ล้านกิโลกรัมต่อปี  ยังไม่รวมปลานิลที่เลี้ยงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ที่มีอีกจำนวนมาก 

เฉพาะช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(59) ประเทศไทยส่งออกปลานิลและผลิตภัณฑ์ รวมกว่า 5,600 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 433 ล้านบาท โดยมีตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา

ด้วยวิสัยทัศน์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ไม่เพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วย "โปรแกรมชมปลา" เป็นจุดเริ่มต้นทางการทูต แต่ยังได้ก่อให้เกิดอาชีพ สร้างงานและรายได้ ให้กับประชาชน และประเทศชาติอีกด้วย     

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog