คดีของนางสาวแพรวา เยาวชนที่ขับรถยนต์ซีวิค ชนท้ายรถตู้โดยสารสาธารณะบนทางด่วนโทลเวย์หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 2 ปีก่อน ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุจนถึงกระบวนการฟ้องร้อง
คดีของนางสาวแพรวา เยาวชนที่ขับรถยนต์ซีวิค ชนท้ายรถตู้โดยสารสาธารณะบนทางด่วนโทลเวย์หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 2 ปีก่อน ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุจนถึงกระบวนการฟ้องร้อง เกือบ 2ปี เป็นมาอย่างไร ติดตามเรื่องราวอีกครั้งหนึ่งเพราะถือเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เวลา 21.45 น.เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เมื่อเยาวชนอายุ 16 ปี ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซีวิคชนท้ายรถตู้โดยสารสาธารณะบนทางด่วนโทลเวย์ ฝั่งขาเข้าช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผลให้มีผู้โดยสารรถตู้เสียชีวิตทันที 8 ราย บาดเจ็บ 7 คน
โดยสภาพการเสียชีวิตส่วนใหญ่ตกจากที่สูง โดยตกจากทางยกระดับลงมาที่พื้นถนน 5 ศพ มีอีก 1 ศพติดค้างอยู่บนสะพานลอย และอีก 1 ศพตกลงในคูน้ำข้างทางเท้า และภายหลังมีผู้บาดเจ็บ 1 คน เสียชีวิต รวมมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 9 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนั้นมีนายศาสตรา เช้าเที่ยง นักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติรวมอยู่ด้วย
16 กุมภาพันธ์ 2554 ทีมกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ยื่นฟ้องคดีอาญากับผู้ปกครองผู้ต้องหา และเจ้าของรถยนต์ ในข้อหาละเลย และประมาทในการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน จนทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำความผิดให้ผู้อื่นเสียหาย ตามมาตรา 26 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก 2546
21 กุมภาพันธ์ 2554 ทีมกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือแจ้งความเพิ่มเติมอีก 2 คดี ที่สถานีตำรวจนครบาลวิภาวดี เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ปกครองและเจ้าของรถยนต์ ในข้อหา ประมาทในการใช้รถ ตามกฎหมายจราจรทางบกและความผิด ฐานละเลยการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนจนก่อพฤติกรรมเสี่ยง ตามมาตรา 26 วรรค 3 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พุทธศักราช 2546
30 พฤษภาคม 2554 พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาเพิ่มเติม 1 ข้อหากับสาวซีวิค คือ ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์ นอกเหนือจากข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย
23 มิถุนายน 2554 พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสาวซีวิค ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินเสียหาย และการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ ซึ่งแพรววา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และใช้หลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มูลค่า 1 แสนบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
8 กรกฎาคม 2554 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง สอบคำให้การจำเลย ซึ่งสาวซีวิคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
25 ตุลาคม 2554 ครอบครัวผู้เสียหายและผู้เสียชีวิต ยื่นฟ้องแพรวาและครอบครัว ต่อศาลแพ่งเพิ่มเติม ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 429 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
5 มีนาคม 2555 ศาลแพ่งนัดสืบพยานครั้งแรก โดยครอบครัวของผู้เสียหายทั้งหมดยืนยันว่าจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด แม้ว่าต้องต่อสู้มาแล้วเกือบ 2 ปี ซึ่งขั้นตอนนี้ เป็นการสืบพยานรอการพิพากษาคดีอาญาให้เสร็จสิ้นก่อน