งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ หรือ book expo thailand ครั้งที่ 21 เริ่มแล้วในวันนี้ - 24 ตุลาคมนี้ โดยปีนี้จัดนิทรรศกาลแนวคิด "เสนอหน้า" เพื่อให้ผู้อ่านรู้ความเป็นมากว่าจะเป็นหนังสือ และการปรับตัวของผู้เขียนหนังสือที่ต้องปรับให้ทันกระแสการบริโภคการอ่านของคนในปัจจุบัน
นิทรรศกาล "เสนอหน้า" แนวคิดการจัดการงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 ที่เริ่มต้นในวันนี้ ต้องการนำเสนอเบื้องหลังการผลิตหนังสือสู่เบื้องหน้ากว่าจะมาเป็นหนังสือ 1 เล่มต้องผ่าน 6 สาขาอาชีพ เช่น นักขียน บรรณาธิการ นักออกแบบกราฟฟิกเป็นต้น ซึ่งทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือประเทศไทยต้องการสื่อไปถึงผู้อ่าน ถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ทำงานเบื้องหลัง ปัจจุบันกระแสการบริโภคหนังสือมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป ซึ่งผู้ผลิตเบื้องหลังต้องปรับตัวให้ทัน
ขณะที่เศรษฐกิจในปีนี้ไม่ดี สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการอ่านมากขึ้น ซึ่งมีนิตยสารหลายฉบับปิดตัวไปในปีนี้ แต่ทางสมาคมยังคงเชื่อว่า คนอ่านหนังสือยังมีมากขึ้นใน 5-10 ปี เช่นในงานนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 2 ล้านคน และกลุ่มคนอ่านจะเป็นเยาวชนมากขึ้น แต่ยอดขายในปีนี้อาจจะไม่ดีซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ
ด้านสำนักพิมพ์ มติชนได้ปรับกลยุทธ์รับมือเช่นกัน โดยกำหนดคอนเทนท์และยอดพิมพ์ ซึ่งจะดูตามความต้องการตลาดเป็นหลัก
ส่วนบู๊ธของสำนักพิมพ์มติชนปีนี้ ภายใต้แนวคิด read to lead โดยชูหนังสือรวบรวมแนวคิดผู้นำแต่ละประเทศเป็นจุดขาย เช่น "ก้าวใหม่ที่แตกต่างบนทางเดียวกัน เขียนโดย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนนาดาที่เขียนเส้นทางการเป็นนักการเมือง และการทำงานที่เน้นด้านความเสมอภาคเป็นหลัก หนังสือชีวิตของประเทศ เขียนโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม เป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ในปลายกรุงศรีอยุธยา และอีกเล่มคือ สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ซึ่งได้รวบรวมบทปาฐกถาจากนโยบายการบริหารประเทศจีนรุ่นใหม่