จนถึงขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายของ 'ปลากระเบนราหูน้ำจืด' ในแม่น้ำแม่กลองได้ แต่สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ จ.ราชบุรี เชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดจากการปล่อยน้ำเสีย
ยอดปลากระเบนราหูน้ำจืด ที่ตายในแม่น้ำแม่กลอง ช่วงจังหวัดสมุทรสงคราม เพิ่มเป็น 16 ตัวแล้ว ตัวล่าสุด พบเมื่อคืนนี้(7 ต.ค.) จมโคลน อยู่บริเวณรอยต่อจังหวัดสมุทรสงคราม เจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือ นำไปดูแลต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม
ขณะที่ เมื่อเช้านี้(8ต.ค.) ชาวประมงชายฝั่ง แจ้งพบปลากระเบนฝูงใหญ่ 4 ตัว บริเวณปากอ่าวแม่กลอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ เหลือเพียง 1 ตัว ที่ชาวประมงใส่อวน ลากเข้าฝั่งที่ท่าเรือปากมาบ พบว่า ปลากระเบนยังไม่ตาย แต่อยู่ในสภาพอ่อนแรง ส่วน 3 ตัวที่เหลือ ไหลไปตามน้ำ เนื่องจากเป็นช่วงน้ำลง โดยนำไปพักฟื้นที่ศูนย์วิจัยฯ ส่วนปลาชนิดอื่นๆ ในแม่น้ำแม่กลอง ยังไม่พบการตายผิดปกติ และยังไม่มีรายงานผลกระทบการใช้น้ำของชาวบ้าน
สาเหตุการตายของปลากระเบนราหูน้ำจืด ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะข้อสังเกตุว่า เป็นเพราะการปล่อยน้ำเสีย ของโรงงานผลิตเอทานอล จังหวัดราชบุรีหรือไม่ โดยวันนี้ (8 ต.ค.) นายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปสอบถามข้อเท็จจริง จากบริษัท ราชบุรี เอทานอล จำกัด ได้รับคำชี้แจงว่า น้ำที่ไหลลงแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากบ่อกักเก็บน้ำของโรงงานรั่วซึม แต่เร่งซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติแล้ว ยืนยัน น้ำที่รั่วไหลไป มีการบำบัด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับ นายสวง สุดประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่าตรวจสอบกรณีน้ำในบ่อกักเก็บของโรงงานดังกล่าว ล้นไหลออกนอกบ่อ ซึ่งโรงงานแก้ไขแล้ว และปริมาณน้ำที่ออกมา ก็ไม่ทำให้แม่น้ำแม่กลองเน่าเสียได้ทั้งสาย
ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ เก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่จุดที่ตั้งโรงงานดังกล่าว ไปจนถึงจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงแล้ว
ด้าน นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหา โดยระหว่างนี้ สั่งให้ปศุสัตว์จังหวัด ทำคู่มือช่วยเหลือปลากระเบน แจกจ่ายให้ชาวบ้าน จัดหาจุดปลอดภัยในการรักษาช่วยชีวิตปลากระเบน และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเฝ้าระวังปลากระเบนที่ลอยขึ้นมา
พร้อมตำหนิหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ารายงานช้า ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วกว่านี้ จึงกำชับให้ทุกฝ่าย จากนี้ไป มีอะไรขอให้รายงานโดยตรง ทั้งทางแอปพลิเคชั่นไลน์ หรือทางโทรศัพท์ จะได้มีข้อมูลในการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาได้ทัน และสั่งให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห้ามกลับบ้านช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ จนกว่าปัญหาปลากระเบนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ปลากระเบนราหูน้ำจืด มีความกว้างของตัวปลาที่พบมากสุด 3 เมตร หนัก 600 กิโลกรัม มีผิวของลำตัวด้านหลังเป็นสีน้ำตาล ส่วนท้องอาจจะมีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา พบในแหล่งน้ำที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา เกาะบอร์เนียวตะวันออก ตอนเหนือของออสเตรเลีย เกาะนิวกินี โดยสถานที่ที่พบตัวขนาดใหญ่ คือ แม่น้ำแม่กลอง ก่อนถึงอ่าวไทย 20 กิโลเมตร ในเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ปัจจุบัน ปลากระเบนราหูน้ำจืด จัดเป็นปลาน้ำจืดไทยอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังอนุมัติให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และให้สามารถเพาะพันธุ์ได้ เพื่อป้องกันมิให้สูญพันธุ์ และเพื่ออนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ค้า และเพาะพันธุ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย