ไม่พบผลการค้นหา
“สุรพล นิติไกรพจน์” ไขปม กม.ปรองดอง-ศาล รธน.ใช้อำนาจวิปริต วิปลาส (?) พร้อมสะท้อนมุมมองจะแก้รธน.ควรประชามติถามเจ้าของประเทศ ชี้ให้อำนาจส.ส.ร.เหมือนตีเช็คเปล่า

"สุรพล นิติไกรพจน์" ไขปม กม.ปรองดอง-ศาล รธน.ใช้อำนาจวิปริต วิปลาส (?) พร้อมสะท้อนมุมมองจะแก้รธน.ควรประชามติถามเจ้าของประเทศ ชี้ให้อำนาจส.ส.ร.เหมือนตีเช็คเปล่า

 

สถานการณ์การเมืองไทยช่วงนี้กลับสู่ภาระตึงเครียดอีกครั้ง และหงุดหวิดว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ภายหลังที่มีการจุดพลุเรื่องกฎหมายปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

โดยเฉพาะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการวินิจฉัยเรื่องนี้ออกไปก่อน

 

ในฐานะที่เคยเป็นทั้งอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  "ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์" เล็งเห็นว่าประเด็นทางกฎหมายในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง น่าจะต้องทำความเข้าใจกับสังคมผ่านสื่อมวลชน

 

โดยเขามองว่าเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดองแห่งชาติ เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่ในสภา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ประเด็นมีเหตุผลที่คล้ายคลึง และมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนั้น  ศ.ดร.สุรพล มองว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความชัดเจนอยู่ในตัว คือ จะลบล้างการกระทำทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น และลบล้างความผิดที่มีคำพิพากษาตามกฎหมายของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีมา ก่อนหน้านั้น

 

"ในเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์กฎหมายบ้านเรา ตั้งแต่มีระบบศาลยุติธรรมและมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลกด้วย ที่จะมีกฎหมายของรัฐสภาตราขึ้นเพื่อลบล้างคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดที่ วินิจฉัยเด็ดขาดไปแล้ว"

 

ศ.ดร.สุรพล อธิบายอีกว่า ในอดีตเคยมีการออกกฎหมายลบล้างผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีหรือ การล้มล้างระบบศาลไปเลย เช่น ในเยอรมัน มีการออกกฎหมายล้มล้างผลการวินิจฉัยของระบบศาล ในสมัยที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจ แต่ไม่ใช่การล้มล้างผลของการพิพากษาเฉพาะกรณี โดยไม่ได้ไปแตะต้ององค์กรศาล ฉะนั้นครั้งนี้จึงเป็นเรื่องแรกที่เกิดขึ้น

 

ขณะเดียวกัน การตรา พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อลบล้างผลของคำพิพากษาของศาลที่วินิจฉัยชี้ขาดเบ็ดเสร็จไปแล้ว น่าจะขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 198 วรรค 2 การตั้งศาลใหม่เฉพาะคดี โดย พ.ร.บ.ของสภาจะกระทำมิได้ เป็นการเลือกปฏิบัติให้สภาแทรกแซงฝ่ายตุลาการ และมาตรา 309  ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นการตรากฎหมายไปขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญในแง่ความชอบด้านกฎหมายของ พ.ร.บ.

 

วินิจฉัยให้หมาเป็นแมว พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่เป็น กม.การเงิน

 

ส่วนประเด็นที่ว่า สภาจะมีอำนาจพิจารณากฎหมายนี้ได้หรือไม่

 

"ผมเห็นว่า ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาชัดเจนอยู่แล้ว 2 คดีคือ คดีที่ดินรัชดาฯ กับคดีการยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง ก็เห็นได้อยู่ในตัวว่า การลบล้างผลที่ว่านี้ จะทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และมีภาระในเชิงการใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงเห็นได้ชัด กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับการเงินตั้งแต่ต้นแล้ว

 

แต่เมื่อองค์กรผู้มีอำนาจวินิจฉัย นั่นก็คือ ประธานสภา ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยเบื้องต้น และที่ประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาทั้ง 35 คณะ วินิจฉัยในชั้นของการประชุม กลับวินิจฉัยว่า ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ซึ่งมันชัดถึงขนาดที่ว่าวินิจฉัยให้ 'หมาเป็นแมว' ด้วยซ้ำไปในกรณีนี้

 

แต่เมื่อเป็นการวินิจฉัยโดยองค์กรที่มีอำนาจ แม้จะเป็นคำวินิจฉัยที่วิปลาส ฟั่นเฟือนอย่าง ไรก็ตาม ก็ต้องถือว่า ยุติ ผูกพันและใช้บังคับได้อยู่ ส่วนการดำเนินการโดยให้เหตุผลต่างไปจากข้อเท็จจริง มันจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการ ประธานสภาต้องรับผิดชอบ  ซึ่งก็ต้องไปว่ากันในอีกกระบวนการหนึ่ง จะรับผิดชอบในทางรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบในทางการเมือง หรือรับผิดชอบในกระบวนการถอดถอนอย่างไร...ก็ว่าไป

 

ชำแหละ ร่าง รธน.

 

ส่วนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 291/1

 

ผมมองว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ผ่านกระบวนการลงประชามติ มาจากอำนาจอธิปไตยโดยตรง  ตั้งแต่ประเทศนี้ใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

โดยหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการกฎหมาย และในทางการเมืองด้วยกัน 4 เรื่องคือ

 

1.ราชอาณาจักรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้

2.ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

3.สิทธิเสรีภาพของประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

และ 4.การควบคุมตรวจสอบอำนาจและองค์กรผู้ใช้อำนาจ

 

ถ้ามาดูร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สภาพิจารณากันอยู่ ผมคิดว่ามีปัญหาความชอบธรรม 

 

ประการแรก สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน จะมีอำนาจล้มล้างอธิปไตยโดยตรง ที่ประชาชนแสดงออกโดยผ่านการประชามติได้หรือไม่

 

...ตอบอย่างตรงไปตรงมาและถูกต้องตามหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายมหาชน ต้องบอกว่า ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องกลับไปถามเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แสดงเจตนา หมายความว่าต้องกลับไปถามคนที่ลงมติรับรองรัฐธรรมนูญว่า จะให้แก้ หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แล้วจึงไปสู่กระบวนการแก้ไข

 

ประการที่สอง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีมติให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยให้สภาที่ 3 นั่นก็คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปแก้ โดยที่ไม่มีกรอบความคิดและไม่มีเงื่อนไขใด แล้วแต่ ส.ส.ร. จะมีประชามติ ซึ่งแนวทางเช่นนี้ผมคิดว่ามีปัญหาอยู่มาก เหมือนกับกำลังให้เช็คเปล่าไปกับ ส.ส.ร.

 

คำถามคือ ฐานอำนาจของ ส.ส.ร. มาจากที่ใด?

 

การดำเนินการเช่นนี้มีนัยยะที่อาจละเมิดต่อหลักความเป็นอำนาจสูงสุด การลงประชามติของเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่ และมันอาจจะเป็นการทำลายระบบรัฐธรรมนูญ เป็นปรปักต่อระบบการปกครองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

ยันศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจตีความตาม ม. 68

 

ปิดท้ายด้วย ประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ซึ่งถูกตั้งประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

 

อดีตอธิการบดี มธ. อธิบายว่า มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสมัยใหม่ เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 อยู่ในมาตรา 63 ซึ่งมีเนื้อหาหรือข้อความทำนองเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เจตนาตรงนี้คือตั้งใจให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดนั่นเอง

 

"หลักการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 40 และก็ตั้งใจที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เผื่อ ถ้ามีใครไปใช้สิทธิ ไปใช้เสรีภาพอะไรในทางที่กระทบหรือทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหา ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามได้ ซึ่งกระบวนการในมาตรา 68 ได้เขียนเอาไว้เลย บอกให้ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ไต่สวนข้อเท็จจริงก่อน

 

แต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมารับคำร้องตามมาตรา 68 โดยไม่ได้ผ่านอัยการสูงสุดนั้น คำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า อัยการพิจารณาเรื่องนี้ล่าช้า อาจมีผลกระทบทางการเมือง ซึ่งถ้าศาลไม่รับเรื่องนี้ไว้ และสภาลงมติไปแล้วมันก็จะมีปัญหาตามมา นี่คือตรรกะที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

 

ประเด็นในทางกฎหมายเรื่องนี้จึงมีคำถามว่า เจตนารมณ์ในขณะร่างรัฐธรรมนูญ กับการตีความถ่อยคำในรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร

 

...ชัดเจน...เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายเป็นอย่างหนึ่ง แต่เจตนารมณ์ของผู้ตีความ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายก็ตีความกฎหมายไปได้เท่าที่บัญญัติของกฎหมาย จะอนุญาต และศาลรัฐธรรมนูญก็เลือกตีความว่า มันเห็นได้ทั้ง 2 ทาง รับเรื่องโดยตรงได้

 

แน่นอนว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ขณะยกร่าง แต่ถ้อยคำในทางกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนซึ่งประสงค์จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กับเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ มันทำให้ตีความเช่นนั้นได้ เพราะโดยปกติในทางกฎหมาย ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดตีความกฎหมาย ฉะนั้นศาลย่อมมีอำนาจควบคุม

 

นักกฎหมายทุกคนศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญใน ชั้นเรียนปีที่ 2 ของทุกมหาวิทยาลัย แต่เราไม่เคยหยิบเรื่องนี้มาพูดกันเลยหลัก การที่บอกว่า ศาลเป็นผู้มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ และศาลมีอำนาจชี้ว่าอะไรเป็นกฎหมาย และกฎหมายนั้นจะต้องตีความอย่างไร ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบบกฎหมาย

 

"ผมยกตัวอย่าง 2 คดี ที่เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และเป็นหลักการทางกฎหมายซึ่งยอมรับกันทั่วไป ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ซึ่งนักกฎหมายทุกคนในประเทศนี้ต้องศึกษาคือ คำ วินิจฉัยในคดีที่ชื่อว่า Marbury V. Madison ในปี 1803 ของศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา กับคำวินิจฉัยในคดีอาชญากรสงคราม ที่ 1/2489 ของศาลฎีกาในประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกย่องชื่นชมจากวงการกฎหมายทั่วโลก และก็กลายเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายในเวลานี้"

 

- คดี Marbury V. Madison ในปี 1803  ศาลสูงสุดของอเมริกา ประกาศครั้งแรกว่า ศาลมีอำนาจตีความกฎหมายที่องค์กรนิติบัญญัติร่างออกมา และมีเนื้อความไปในทำนองที่จะละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด โดยเฉพาะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้องค์กรใดมีอำนาจ ศาลต้องเป็นผู้มีอำนาจ

 

ศาลสูงของอเมริกา ตีความเช่นนั้น ฟังดูเป็นเรื่องปกติ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญอเมริกันไม่เคยเขียนให้อำนาจศาลในการตีความกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าต่างคนต่างเป็นตัวแทนจากเจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง รัฐบาล ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ต่างก็มีอำนาจของตน ศาลก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเท่านั้น

 

ทำนองเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลฎีกาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 100 ปีต่อมาคดี นี้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า Judicial  Review หรือการควบคุมตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ ในระบบการเมืองเป็นครั้งแรกในโลก ผมยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เขียนให้อำนาจอะไรเลย

 

คือคำวินิจฉัยในคดีอาชญากรสงคราม ที่ 1/2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยรัฐสภาไทยผ่านกฎหมายอาชญากรสงคราม เพื่อดำเนินคดีกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และบุคคลทั้งหลายที่ดำเนินการให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และให้ศาลฎีกามีอำนาจในการพิจารณาลงโทษคนที่กระทำการดังกล่าว โดยไม่ต้องไปขึ้นศาลต่างประเทศ

 

-ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยที่ 1/2489 ในคดีอาชญากรสงคราม วินิจฉัยว่า ศาล เป็นผู้มีอำนาจตีความกฎหมาย เพราะศาลจะต้องเป็นผู้ใช้กฎหมาย ศาลวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดี  Marbury V. Madison ในปี 1803 โดยระบุว่า เมื่อศาลต้องนำกฎหมายมาใช้บังคับ ศาลก็ต้องมีอำนาจตีความว่าอะไรเป็นกฎหมายหรือไม่เป็นกฎหมาย ซึ่งครั้งนั้นศาลฎีกาเห็นว่าเนื้อหาของ พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม ในส่วนที่กำหนดให้การกระทำก่อนวันที่กฎหมายตราขึ้นใช้บังคับเป็นความผิด ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้บังคับได้

 

ย้อนกลับมาในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

เรื่องนี้ฟังดูไม่ได้ผิดปกติอะไร ศาลก็วินิจฉัยอยู่เป็นระยะว่า พ.ร.บ.นั้น พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับได้หรือไม่ได้ แต่เนื่องจากในเวลานั้น รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ ไม่ได้เขียนอำนาจควบคุมกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในเวลานั้น กำหนดให้อำนาจในการวินิจฉัยต่างๆ เป็นอำนาจของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจของศาลเลย

 

ต่างไปจากกรณีมาตรา 68 ซึ่งบอกว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถ้ามีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติได้ และคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร

 

ความเห็นของผมในฐานะนัก กฎหมายมหาชน ผมคิดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่บอกว่า รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าอาจเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่วางหลักเกณฑ์ที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับคำวินิจฉัย 2 คดีดังกล่าวซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการกฎหมายจนปัจจุบันนี้

 

ส่วนนักกฎหมายไทยที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอยู่ว่า ศาลมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ ผมเข้าใจว่า เหมือนกับจงใจลืมไปว่าทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับในทางกฎหมายอยู่แล้ว

 

ถามทำไม 2 คดีดังกล่าวเรายอมรับ แต่กลับมาบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ผมตั้งคำถามกับวงการกฎหมาย โดยเฉพาะวงการนักกฎหมายมหาชนในประเทศไทย

 

...ในกฎหมายชัดเจนครับว่า คนที่มีอำนาจวินิจฉัยคือ ศาล ศาลมีอำนาจตีความ และในปัจจุบันยิ่งกฎหมายรองรับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าในอดีต เพราะมีมาตรา 68 ทั้งมาตราวางเอาไว้ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่านี้ อยู่บนพื้นฐานของการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 

ประเด็นสำคัญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าการดำเนินการนี้ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ศาลวินิจฉัยเพียงขั้นตอนต้นเท่านั้นเองว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะตรวจสอบว่าการดำเนินการเช่นนี้ ละเมิดหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งห้าม เพราะฉะนั้น นี่คือการใช้อำนาจของศาล

 

เมื่อถามว่า แล้วถ้าศาลใช้อำนาจผิดพลาด หรือใช้อำนาจเกินขอบเขตจะไปสู่อะไร เราจำเป็นต้องเคารพคำพิพากษาของศาลอยู่อีกหรือไม่?

 

คำถามนี้ เป็นคำถามที่ไม่ต้องถามสำหรับนักกฎหมาย การพิพากษาศาลมีคำสั่ง ศาลมีคำวินิจฉัย ก็เป็นคำวินิจฉัยที่ต้องปฏิบัติตาม ส่วนคำวินิจฉัยนั้น ผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือขัดกับหลักกฎหมายตามความเห็นของใครก็ตาม มันก็จะมีกระบวนการตรวจสอบ

 

ถ้าเป็นคำวินิจฉัยของศาลปกติก็จะมีศาลสูงคอยตรวจสอบ ไปจนกระทั่งถึงศาลฎีกาถ้าเป็นคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดแล้ว มันก็มีระบบการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งถ้าใครเห็นว่าศาลใช้อำนาจไปในทาง ที่วิปริต วิปลาส ฟันเฟืองก็จะนำไปสู่การตรวจสอบ ความรับผิดชอบของศาล ซึ่งทำกันอยู่ในเวลานี้ก็คือ ไปยื่นถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ

 

มันมีนัยยะทำนองเดียวกับกรณีเรื่องคำวินิจฉัยของประธานสภาว่า กม.เป็นกม.การเงินหรือไม่ เมื่อประธานสภา และกลไกตรวจสอบวินิจฉัยแล้ว ในทางการเมืองก็ต้องเดินไป ต้องถือว่า ไม่ใช่กฎหมายการเงิน

 

แต่ถ้าใครเห็นว่าคำวินิจฉัยวิปริต วิปลาส  ฟันเฟือง ไปจนขนาดที่ชี้ให้ "หมาเป็นแมว หรือแมวเป็นหมา" ก็ต้องไปดำเนินการกับผู้วินิจฉัย ก็ไปยื่นถอดถอน ให้มีการตรวจสอบ ไปทำอีกกระบวนการหนึ่ง แต่จะไปบอกว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่มีผล เพราะมันต่างไปจากที่เราคิด ต่างไปจากที่เราเชื่อ เป็นไปไม่ได้

 

ทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ผมเรียนว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน ฉบับนี้มีฐานคิดทางกฎหมายและก็ถูกต้องตรงตามตรรกะของการเป็นผู้พิทักษ์รัฐ ธรรมนูญ และศาลก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า การดำเนินการขัดหรือไม่ขัด ศาลบอกว่าเรื่องนี้ศาลต้องมีอำนาจ ถ้าศาลบอกว่าศาลไม่มีอำนาจจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก เพราะมันจะละเมิดกับหลักของการเป็นผู้พิทักษ์ รธน.

 

ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการต่อไปก็คือ ไปไต่สวนว่า การดำเนินการเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ยึดถือหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับแนวทางการชี้แจง ที่ต้องใช้เวลา

 

เมื่อถามว่า รัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ใช่องค์กรที่ต้องดำเนินการตามคำสั่งศาล?

 

ผมก็เห็นทำนองเดียวกันว่า รัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ถ้าไม่ใช่กรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เด็ดขาด หรือศาลมีคำสั่งชี้ขาดและมีผลผูกพันกับทุกองค์กรแล้ว ทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยสามารถใช้ดุลพินิจเป็นของตนเองได้ กรณีนี้ก็เป็นเรื่องประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาต้องใช้ดุลยพินิจ โดยเฉพาะต้องคิดต่อไปว่าขั้นตอนหลังจากนี้มันคืออะไร

 

แต่โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีใครเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดหรอกครับ บทบัญญัติมาตรา 68 เขียนไว้ชัด

 

เมื่อถามว่า แล้วทำไมครั้งนี้ ศาลกลับรับคำร้องโดยตรงได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาตรา 68 ศาลให้ส่งเรื่องไปที่อัยการสูงสุดก่อน?

 

ผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับสาระ ความสำคัญ และลำดับของเรื่อง ซึ่งเหตุผลครั้งนี้คือ การเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเลย และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเราตั้งหลักว่ารัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติของเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรงครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมคิดว่าเราก็น่าจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้  ผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่สำคัญที่สุด

 

Source : bangkokbiznews (Image)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog