สำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานข่าวกรณีที่ น้ำใส – พิชญาภา นาถา 1 ในสมาชิกไอดอลกรุ๊ป BNK48 สวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์สวัสติกะ หรือธงจักรวรรดิไรช์ที่สามแห่งนาซีเยอรมนี จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเกิดจากความไม่ละเอียดอ่อน ไม่มี ความรู้และไม่ตระหนักถึงความเลวร้ายของนาซี แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในเอเชีย เพราะสัญลักษณ์สวัสติกะเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวโยงกับศาสนามาอย่างยาวนาน หมายถึงโชคดีหรือคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนนาซีจะหยิบไปใช้ ขณะเดียวกันหลายคนก็มองว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีถือเป็นต้นแบบของเผด็จการที่เข้มแข็ง
ไซมอน เค ลี ผู้อำนวยการบริหารศูนย์การเรียนรู้เรื่องการสังหารหมู่และความอดทนอดกลั้นของฮ่องกง ซึ่งเป็นองค์กรเดียวที่มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องการสังหารหมู่ในเอเชียตะวันออกกล่าวว่า การนำสัญลักษณ์หรือเครื่องแบบของนาซีมาใช้อาจเกิดจากความไม่รู้เรื่องรู้ราว ความไม่ละเอียดอ่อน และอคติด้วยส่วนหนึ่ง
ในขณะที่ภาพของนาซีและสัญลักษณ์สวัสติกะถูกเลิกใช้ในโลกตะวันตกหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สัญลักษณ์สวัสติกะยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องในเอเชีย ในปี 2006 มีคาเฟ่ในนครมุมไบของอินเดียที่ชื่อว่า “กากบาทของฮิตเลอร์” และใช้สวัสติกะเป็นโลโกร้าน ในปี 2014 มีคาเฟ่ธีมนาซีในอินโดนีเซีย มีร้านอาหารอิตาเลียนในไต้หวันตั้งชื่อเมนูอาหารว่า “นาซีจงเจริญ” และในปีนั้นวงป๊อปเกาหลีใต้ที่ชื่อ Pritz ก็ใส่ชุดที่คล้ายกับเครื่องแบบนาซี ในปี 2016 นักเรียนมัธยมในไต้หวันก็แต่งกายเครื่องแบบนาซีในขบวนพาเหรด เช่นเดียวกับนักเรียนในไทย
ส่วนใหญ่ เมื่อเกิดดราม่าเกี่ยวกับนาซีในเอเชีย ก็มักจะจบลงด้วยการออกมาขอโทษกับความ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” แต่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับนาซีและการสังหารหมู่ก็ยังไม่ดีขึ้น โดยไซมอน เค ลีระบุว่า หลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของหลายประเทศในเอเชียไม่ได้บรรจุเรื่องความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 รวมถึงการสังหารหมู่นานกิงในปี 1937 การกักขังและข่มขืนสตรีบำเรอสงครามในหลายประเทศโดยกองทัพญี่ปุ่นทั้งก่อนและระหว่างสงคามโลกครั้งที่ 2
ในเอเชีย การเรียนการสอนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสังหารหมู่โดยทั่วไปมีอย่างจำกัดมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูหลายคนไม่มั่นใจว่าจะบอกนักเรียนถึงระดับความเลวร้ายของเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงกลายเป็น “หน้าเปล่า” ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์
ขณะเดียวกัน ลีกล่าวว่า ช่วงหลังมานี้ เขาสัมผัสได้ถึงกระแสที่คนมองนาซีและฮิตเลอร์เป็นต้นแบบของผู้นำชาตินิยมที่เข้มแข็ง และการที่คนสามารถปกปิดตัวตนของตัวเองเวลาใช้โซเชียลมีเดียก็ทำให้วาทกรรมแห่งความเกลียดชังและสนับสนุนนาซีมีเพิ่มขึ้นบนโลกออนไลน์
เดวิด สเตรกฟัส นักวิชาการที่อยู่ในไทยและเป็นผู้เขียนหนังสือ Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason and Lèse-Majesté ว่า สังคมไทยรู้สึกดึงดูดกับลัทธินาซีและสวัสติกะ โดยที่แทบไม่มีความรู้หรือสนใจประวัติศาสตร์เลย สเตรกฟัสกล่าวว่า ในช่วงปี 1930 รัฐบาลไทยก็เคยหลงใหลสถาปัตยกรรมและแนวคิดฮิตเลอร์ และรัฐบาลทหารที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลปัจจุบันก็มักแสดงออกถึง “ความหลงใหลฮิตเลอร์และผู้นำอำนาจนิยมอื่นๆ อย่างแปลกประหลาดและไร้ความรับผิดชอบ”
เมื่อปี 2014 วิดีโอโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลปัจจุบันก็มีภาพที่เด็กวาดภาพฮิตเลอร์ จนยูทูบต้องลบวิดีโอดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ทั้งจากคนไทยและต่างชาติ โดยซิมอน โรเดด เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทยระบุว่า หากจะเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ก็คือ การศึกษาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว และการอดอทอดกลั้นต่อความแตกต่าง ควรถูกนำมาบรรจุไว้ในหลักสุตรการศึกษาของไทย
เอเชียไม่ใช่พื้นที่เดียวที่ความไม่รู้เรื่องรู้ราวต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีมีอย่างแพร่หลาย การสำรวจผู้หใญ่ชาวอังกฤษมากกว่า 2,000 คน พบว่า ร้อยละ 45 ไม่รู้ว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเท่าไหร่ และ 1 ใน 20 คนไม่เชื่อว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง
เมื่อปี 2016 ไทยเคยถูกจัดอันดับโดย Ipsos MORI ให้เป็นอันดับ 7 ของประเทศที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว (ignorant) ที่สุดในโลก หลังจากมีการสำรวจคนทั้งหมด 27,250 คนที่มีอายุ 16 - 64 ปีจากทั้งหมด 40 ประเทศ โดยจะมีการถามเกี่ยวกับประชากร งบประมาณสาธารณสุข สัดส่วนประชากรมุสลิมในประเทศ
รายชื่อประเทศที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวมากที่สุดในโลก 10 อันดับ ได้แก่ อินเดีย จีน ไต้หวัน เซาท์แอฟริกา สหรัฐฯ บราซิล ไทย สิงคโปร์ ตุรกี อินโดนีเซีย
ที่มา : New York Times, The Independent