ไม่พบผลการค้นหา
สื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยควรมีบทบาทอย่างไรในสังคมที่ขัดแย้ง? นี่อาจเป็นคำถามที่เราได้ยินกันหลายครั้งตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในสังคมไทย 'สื่อมวลชน' คืออีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนสำคัญที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อกระแสความคิดเห็นในสังคม

หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าบางครั้งการทำหน้าที่ของสื่ออาจยิ่งกระพือความขัดแย้งให้รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของหนังสือพิมพ์ 'ดาวสยาม' ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ที่ปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังในสังคมจนกลายเป็นใบอนุญาตสังหารนักศึกษา หรือแม้แต่การด่วนตีตรา 'คนเสื้อแดง' ของสื่อบางส่วน ว่าพวกเขาเป็นเพียงคนที่รับเงินมาประท้วงให้ 'นักการเมืองโกง' ในเหตุการณ์ปี 2553 จนปิดโอกาสที่สังคมจะถกเถียงทำความเข้าใจถึงรากของปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในเวลานั้น ล้วนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ในวันนี้ซึ่งสังคมไทยเกิดการปะทะทางความคิดอย่างหนักอีกครั้งระหว่างฝ่ายจารีตนิยมและเสรีนิยม การรายงานและไม่รายงานของสื่อหลายสำนักถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงเป็นอีกครั้งที่เกิดการตั้งคำถามต่อบทบาทสื่อว่าควรเป็นอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

'วอยซ์ออนไลน์' ได้พูดคุยกับ 'นิธินันท์ ยอแสงรัตน์' อดีตบรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น อดีตที่ปรึกษามติชนทีวี และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Media Inside Out ผู้ผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หรือในฐานะสื่อมวลชนที่ผ่านการทำงานในห้วงเวลาที่สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งรุนแรงอีกหลายครั้งหลังจากนั้น เพื่อทบทวนถึงบทบาทสื่อ 'ที่ควรจะเป็น' ท่ามกลางสภาวะสังคมขัดแย้ง

'นิธินันท์' มองว่าในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมมีความคิดความเชื่อหลากหลาย สื่อจะเลือกข้างความเชื่อใดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ที่ควรกำหนดเป็นบรรทัดฐานคือ 'ห้ามบิดเบือน' และ 'ห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชน'    

ถือตะเกียงส่องให้เห็นถึงปัญหาภาพรวม คือหน้าที่สื่อในสังคมขัดแย้ง

หากจะตอบคำถามเรื่องบทบาทที่ควรจะเป็นของสื่อมวลชน การย้อนกลับไปทบทวนนิยามความเป็นสื่ออาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดย 'นิธินันท์' เผยว่า จากการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันเรื่องนี้ในหมู่นักข่าวทั้งไทยและต่างชาติมาหลายครั้ง เกิดข้อสรุปที่น่าสนใจ โดยนิยามหน้าที่สื่อ 4 ข้อ ได้แก่   

Media หมายถึงการเป็นพื้นที่หรือแพลตฟอร์มสำหรับข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ รวมถึงคลิปต่างๆ แบบที่เราใช้สื่อสารรายงานข้อมูลแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

Medium ที่ในด้านหนึ่งความหมายของ Medium หมายถึงเป็น Means คือเป็นเครื่องมือหรือเป็นวิธีการที่ใช้ในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นหมายความว่า นอกจากเป็นพื้นที่ เป็นแพลตฟอร์มแล้ว สื่อมวลชนก็ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร 

นอกจากนี้ สื่อยังเป็น Messenger ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้รับส่งข่าวสารให้สังคม

และท้ายที่สุดคือเป็น Map Maker ที่หมายถึงการเป็นคนทำแผนที่สังคม

mcr-สื่อ-ช่อง-สถานีโทรทัศน์.jpg

หมายถึงว่าสื่อนี่ควรจะรู้ไงคะว่าอะไรเกิดขึ้นตรงไหนในสังคม แล้วก็ช่วยกันวางจุด เหมือนกับคนทำพื้นที่ภูมิศาสตร์สมัยก่อน ตรงไหนเป็นภูเขาเป็นแม่น้ำ ในหน้าที่ของสื่อเราสามารถบอกได้ว่าสังคมจุดนั้น จุดนี้ จุดโน้นมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร เขาเรียกร้องอะไร เราทำภาพให้เห็น เพราะว่าคนอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง บางทีเขาไม่เห็นภาพรวม สื่อสารมวลชนควรจะช่วยทำให้เห็นภาพรวมได้

ในฐานะที่สื่อมวลชนอาวุโสที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการสื่อสารมวลชนมานานกว่า 40 ปี 'นิธินันท์' มองว่านิยามหน้าที่ของสื่อที่กล่าวถึงข้างต้น สัมพันธ์กับคำตอบของคำถามที่ว่า สื่อควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในสังคมขัดแย้ง โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ ก็มีข้อถกเถียงในวงการสื่อว่าสื่อควรจะวางตัวเองเป็น 'ตะเกียง' ซึ่งหมายถึงการส่องแสงให้คำตอบกับปัญหาของสังคมบนฐานคิดที่ว่าสื่อคือผู้ทรงภูมิปัญญา หรือจะเป็นเพียงคนนำสารส่งสารอย่างเดียว แต่ส่วนตัวของ 'นิธินันท์' มองว่าหากหน้าที่สื่อคือการเป็นคนทำแผนที่สังคมแล้ว สิ่งที่สื่อมวลชนควรทำคือ การเป็นคนปีนขึ้นไปชูตะเกียงบนยอดเสาให้เห็นภาพรวม มากกว่า

“คือคำว่าตะเกียงสมัยก่อนเราจะมีความเชื่อเหมือนกับว่าเราเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา แล้วก็เป็นคนส่องแสงสว่างให้สังคม เป็นคำใหญ่โต เป็นคำที่สื่อหลงตัว แต่ความจริงตะเกียงที่พูดเมื่อสักครู่นะคะ หรือว่ามากกว่าการแค่ส่งสารไปมาก็คือว่า เราปีนขึ้นไปส่องเอาสิ่งต่างๆ ที่ใครต่อใครพูดให้คนเห็น เพราะไม่อย่างนั้นแล้วคนบางคนเห็นอยู่จุดเดียว เราทำให้เห็นหลายๆ จุด แต่เราไม่ชี้นำจากภูมิปัญญาของเรา เพราะเราไม่ใช่คนฉลาดที่สุดในโลก

คือเราอย่าหลงตัวว่าเราเป็นคนฉลาดที่สุดในโลก เพราะเราไม่ใช่ แล้วมวลชนอันไพศาลเนี่ยนะคะ ขอใช้ศัพท์แบบนี้ก็แล้วกัน เขามีคนฉลาดเยอะแยะ สื่อเพียงแต่ว่าทำหน้าที่อันนี้ เปิดกว้างให้เห็นว่ามีความคิดอะไรบ้างให้คนได้เรียนรู้ ให้สังคมได้เรียนรู้”

สื่อเลือกข้างไม่แปลก แต่มาตรฐานขั้นต่ำสุดคือต้องไม่บิดเบือน และหลักสิทธิมนุษยชนคือสิ่งที่ละเมิดไม่ได้

สื่อเลือกข้างได้หรือไม่ ดูจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่ง 'นิธินันท์' บอกว่านี่เป็นประเด็นที่สื่อในต่างประเทศเองก็ถกเถียงมาตั้งแต่เริ่มยุคสหัสวรรษใหม่ หรือตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โดยเริ่มมีการตั้งคำถามต่อคำพูดที่ว่าสื่อต้องมีภาระผูกพันต่อความจริง (Truth) และต้องมีความเป็นภววิสัย (Objectivity) นั้นเป็นไปได้แค่ไหนในความจริงที่โลกเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อในทางการเมือง สังคม หรือมิติอื่นๆ ของชีวิต ซึ่งรวมถึงความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายในหมู่คนทำสื่อเองด้วย ซึ่ง 'นิธินันท์' มองว่าการจะทำตามคำกล่าวนั้นได้ค่อนข้างเป็นเรื่อง “แฟนตาซี”

คือว่าในโลกอันมีความแตกต่างหลากหลายเนี่ย เรายากที่จะไม่มีความเชื่ออะไรเลย เพราะฉะนั้นมันจะมีสื่อที่เรียกว่า สมมุติว่าโปรประชาธิปไตย โปร Socialism โปรอะไรต่างๆ แบบนี้นะคะ เราสนับสนุนได้ สนับสนุนความคิดจารีตก็ได้ว่าโอเคเราชอบให้คุณแต่งชุดไทยแบบที่เราเคยเห็นอะไรก็ว่ากันไป แล้วเราก็ถกกันต่อได้ว่าไทยที่ว่าคืออะไรนะคะ หมายความว่าคุณโปรไปเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่คุณสนับสนุนอันนี้แปลว่าคุณบิดเบือนนะคะ เช่นที่พูดหลายครั้งแล้ว

ดิฉันก็เคยสอนนักศึกษาด้วยนะคะ สมัยก่อนเองก็ใช้คำแบบโบราณเหมือนกันว่า ‘ความเป็นกลาง’ คือเคยสอนนักศึกษาเหมือนกันว่า Objectivity แปลว่าความเป็นกลาง หมายความว่าเราเลือกข้างได้ แต่ในการบรรยายหรืออะไรก็ตาม เราต้องไม่บิดเบือนมัน ไม่ใส่ร้ายมัน เช่น มีแก้วน้ำอยู่ตรงหน้า มันเป็นแก้วที่ทำจากเซรามิก เราไม่ชอบแก้วเซรามิกเลย แต่ว่าในการทำข่าวเราต้องไม่พูดว่าแก้วเซรามิกใบนี้ใส่น้ำลงไปคุณกินแล้วคุณตาย เป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพของคุณโดยที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ คุณมโนเอาเองว่าคุณเกลียดแก้วเซรามิก ทำอย่างนี้ไม่ได้ และอันนี้คือคำว่า Objectivity หรือความเป็นกลางทางความรู้ หรือมุมมอง ไม่ใช่ความเป็นกลางทางความเชื่อ

AP-ถ้ำหลวง-ทีมหมูป่า-เชียงราย-นักข่าว-สื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมองว่าสื่อสามารถสนับสนุนความคิดความเชื่อบางประการได้ เช่น เป็นสื่อที่ประกาศว่าสนับสนุนประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือแม้แต่จารีตนิยม หากแต่สิ่งที่ 'นิธินันท์' มองว่าคนทำสื่อควรยึดเอาไว้ให้มั่นคือ 'ต้องไม่บิดเบือนหรือใส่ร้าย'

ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักว่าในโลกยุคปัจจุบันเมื่อสื่อประกาศตัวว่าอยู่ข้างประชาชน ก็จะเกิดคำถามเช่นกันว่าหมายถึงประชาชนกลุ่มไหน ดังนั้นสื่อเองก็ต้องรู้เท่าทันว่าตัวเองกำลังสนับสนุนแนวคิดแบบใดอยู่และต้องกล้าหาญที่จะพูดว่าสนับสนุนแนวคิดเหล่านั้น เช่น ถ้าเลือกข้างจารีตก็อย่าบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย รวมถึงตั้งคำถามต่อ 'ความถูกต้อง' ที่ตัวเองยึดถือศรัทธาให้หนัก โดยต้องไม่อ้างความถูกต้องที่ตัวเองเชื่อไปทำร้าย ละเมิด หรือลิดรอนสิทธิของผู้อื่น ซึ่งสิ่งที่ต้องกำหนดเอาไว้เป็นมาตรฐานคือการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

คือยุคของศตวรรษที่ 21 เรื่องแบบนี้คือเรื่องที่เราจะพูดถึงกันเยอะขึ้น เพราะเราเข้าใจมากขึ้น เรื่องความหลากหลายและสิทธิที่แต่ละคนมี มนุษย์ทุกคนมีชีวิตและก็มีสิทธิของตัวเองนะคะ อันนี้ต้องมีเรื่องนี้ค่ะ สำคัญมาก

ส่วนการลุกขึ้นมาทำร้ายสังคมด้วยการยุยงปลุกปั่นให้คนทะเลาะกันและสนับสนุนการกำจัดคนคิดต่าง 'นิธินันท์' บอกว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน

สื่อเนี่ยเค้าเรียกว่าทำให้สังคมได้รู้ว่าตรงนั้นมีอย่างงี้ ตรงนี้มีอย่างงั้น ควรจะทำหน้าที่อย่างนั้นจริง แต่ไม่ใช่ยุให้คนในสังคมมาทะเลาะกัน อันนี้มันไม่สมควรทำ มันไม่ใช่หน้าที่สื่อ สื่อไม่ได้มีหน้าที่ทำร้ายสังคม คืออะไรก็ตามที่ทำร้ายสังคมไม่ใช่บทบาทของสื่อสารมวลชน เพราะฉะนั้นถึงได้พูดเสมอไงคะว่าถ้าคุณลุกขึ้นมาในสังคมที่มีความขัดแย้งทางความคิด คุณลงสนามเป็นผู้ขัดแย้งทางความคิดที่จะต้องรบอีกฝ่ายให้ตายตก ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่สื่อ

"สื่อมีสิทธิที่จะบอกว่าฉันเชื่อความคิดแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะบอกว่าต้องรบคนที่คิดต่างให้ตายหรือกำจัดมันให้หมด มันไม่ใช่ "

แล้วการต่อสู้ทางความคิด จริงๆ แล้วในโลกแห่งความหลากหลาย ศตวรรษที่ 21 เราเข้าใจอันนี้มากขึ้น การต่อสู้ทางความคิดไม่ได้หมายถึงต้องฆ่าความคิดอีกฝ่ายให้ตายตก แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ให้ความคิดแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมรับว่าก็เผด็จการก็เผด็จการต่อไปสิ แต่หมายความว่าถ้าคุณอยากเผด็จการ คุณก็จงไปเผด็จการในกลุ่มของคุณเองที่คุณชอบ แต่ไม่ใช่เอาความเผด็จการอันนี้มาทำลายสิทธิของคนอื่น มันไม่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาวิพากษ์สื่อไทย สิ่งที่ 'นิธินันท์' มองว่าเป็นปัญหาคือต้องมองเป็น 2 ประเด็น โดยในภาพรวมของสื่อทั่วไป สิ่งที่สื่อมวลชนอาวุโสคนนี้มองว่าดูจะมีปัญหาไม่น้อยคือการที่สังคมไทยไม่ค่อยพูดคุยเรื่องจริยธรรมสื่อกันมากนัก แต่ก็มักถูกนำไปอ้างอย่างใหญ่โตเพื่อปกป้องตัวเอง และการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนก็ทำให้บางครั้งสื่อทำงานด้วยความไม่ระมัดระวัง และไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น หรือแม้แต่ตามประเด็นที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม เน้นเสนอข่าวที่เป็น Sensational News ที่มีความหวือหวา ดึงดูดความสนใจแบบข่าวบันเทิงเพื่อความอยู่รอดของสื่อเอง ซึ่ง 'นิธินันท์' มองว่าไม่ใช่มีข่าวประเภทนี้ไม่ได้เลย แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่คือเป็นการนำเสนอในรูปแบบนี้เพียงด้านเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสื่อไทยอาจคิดถึงภาพสังคมโดยรวมที่จะก้าวไปข้างหน้าน้อยลง

สื่อควรจะตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ยังไงในสังคมแบบนี้ แล้วสังคมเราควรจะก้าวหน้าไปยังไง แล้วเสนอคำถาม เสนอการถกเถียง ซึ่งไม่ได้แปลว่าสื่อถูกที่สุด แต่แปลว่าสื่อควรจะเสนอ ควรจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ก่อนคนอื่น ไม่ใช่จมอยู่ในกระแสความสนุกชั่วคราวนะคะ อันนี้เป็นปัญหาข้อที่ 1 ของสื่อ ตั้งคำถามกับสังคมโดยรวมน้อยเกินไป

ส่วนในประเด็นของสื่อเลือกข้าง 'นิธินันท์' มองว่าสื่อให้ความเข้าใจกับสังคมน้อยเกินไป

“คือไม่อยากใช้คำว่าให้ความรู้ไง เพราะเราไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ ดิฉันย้ำเสมอนะว่าเราต้องอย่าคิดว่าเราเป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือสติปัญญาดีกว่าคนอื่น แต่ยังไงก็ตามสื่อต้องมีสติปัญญาค่ะ ถ้าไม่มีสติปัญญามาทำสื่อเนี่ย เสื่อมเสียกับสังคม เพราะว่าคุณจะให้ยาพิษสังคมทุกเวลา คุณต้องมีสติปัญญา แต่ไม่ได้แปลว่าคุณมีสติปัญญาล้ำเลิศกว่าใครๆ ต้องถ่อมตัวไว้ให้ได้ค่ะ คืออย่าหลงตัวว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลก แต่คุณต้องห้ามไม่มีสติปัญญาค่ะ เพราะไม่มีสติปัญญาปุ๊บคุณพูดอะไรไม่รู้ที่มันไม่มีหลักการ ตรรกะ ไม่มีเหตุผลอะไรอธิบายเลย สังคมก็ยิ่งปั่นป่วนไปกันใหญ่ อันนี้มันอันตราย

"ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็น Gatekeeper ของข่าวแต่ผู้เดียวอีกต่อไปแล้วในยุคใหม่ แต่ยังไงก็ตาม สถาบันสื่อซึ่งมีเครือข่ายเยอะกว่าหรือมีการเข้าถึงแหล่งข่าวเยอะกว่าสื่อพลเมือง คุณยังทำบทบาทตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำ"

ในแง่ที่ยิ่งสื่อเลือกข้าง เราต้องให้ความเข้าใจประชาชนว่า อะไรคือความคิด อะไรแบบนี้ จริงๆ อาจเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ แต่หมายความว่าสื่อต้องทำหน้าที่เสนอความคิด หลักวิชาที่คนเขาพูดกันในโลกบ้าง แล้วก็ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่แต่ประเทศไทยประเทศเดียว ดูโลกบ้าง อ่านหนังสือ อ่านหนังสือของต่างประเทศบ้าง ดูข่าวต่างประเทศบ้าง ทำความเข้าใจบ้างว่าโลกเขาไปไหนกันแล้ว”

ปรากฏการณ์แบนสื่อแบนสปอนเซอร์ไม่ใช่การคุกคาม แต่ควรนำไปสู่การทบทวนปัญหา

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียรณรงค์ให้แบนสื่อแห่งหนึ่งจากความไม่พอใจในการนำเสนอข่าว รวมถึงยังรณรงค์ให้แบนสินค้าที่ให้การสนับสนุนสื่อเจ้าดังกล่าวจนทำให้สปอนเซอร์หลายแห่งต้องประกาศระงับหรือถอนการสนับสนุน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้บริหารและผู้สนับสนุนสื่อดังกล่าวเรียกว่าเป็นการคุกคามจากคนเห็นต่าง

แต่ 'นิธินันท์' มองว่าปรากฏการณ์นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษทางสังคม หรือ Social Sanction ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ ปรากฏการณ์ลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นมากกว่าว่า มีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น และจำเป็นต้องได้รับการทบทวนเพื่อแก้ไข

คือจริงๆ อย่างนี้มันดีกว่าการยกพวกตีกันไหมคะ ต้องถามอย่างนี้นะคะ มันดีกว่าไหม มันก็เป็น Social Sanction เป็นรูปแบบหนึ่งของการ Sanction ทางสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้คนที่ไม่ชอบคนที่มีแนวคิดประชาธิปไตยก็เคยแบนกันมาแล้วนี่คะ เพราะฉะนั้น มันก็คือแบนไปแบนมา แต่ถ้าถามว่าแบนไปแบนมาแล้วมันจะอลหม่านไหม ดิฉันก็คิดว่ามันมีความพอดีอยู่ในนั้น คือในที่สุดก็ต้องมีคนลุกมาพูดเหมือนกัน มาจัดการปัญหา แก้ปัญหาอะไรสักอย่าง หมายความว่าเป็นการกระตุ้นให้คนคิดว่าแบบนี้มันจะส่งผลเสียต่อธุรกิจไหม คือประชาชนไม่มีทางตอบโต้ด้วยวิธีอื่นนะคะ ดิฉันคิดว่านี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง เป็นเรื่องปกติมากเลย คือเราไม่ควรจะตกใจกับอะไรแบบนี้นะ แต่ควรจะมองว่าถ้าเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น มันแปลว่ามีอะไรผิดปกติอยู่สักอย่าง ถึงทำให้ต้องเกิดการแบนและแก้ไข

สมมุติแต่ก่อนที่แบนประชาธิปไตย เราก็บอกว่าโอเคมีคนที่ไม่เข้าใจประชาธิปไตยแล้วก็แบน ก็แบนไป เราก็ต้องหาทางเสนอมุมมองของฝั่งประชาธิปไตยออกไปสำหรับเราที่เชื่อในประชาธิปไตย ก็เสนอไป วันหนึ่งกลุ่มประชาธิปไตยเติบโตขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งเขาก็บอกว่าแบนบ้าง อันนี้ก็เป็นปกติ แล้วก็ต้องสู้ทางความคิดกันต่อไปอีก

ในวันที่สังคมต้องการ 'ขยายเพดาน' การแสดงความคิดเห็น หน้าที่สื่อคือเสนอสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย

หลังสังคมไทย 'ถูกทำให้เงียบ' มายาวนานกว่า 6 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีปราศรัยของการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชนในการขยับขยายเพดานการแสดงความคิดเห็นและเปิดบทสนทนาประเด็นสำคัญในสังคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นความท้าทายของสื่อมวลชนไทยไม่น้อยในการนำเสนอประเด็นนี้ หากพิจารณาจากข้อจำกัดทั้งทางกฎหมายและวัฒนธรรม

ปนัสยา แฟลชม็อบ ธรรมศาสตร์ mob qw.jpg

'นิธินันท์' มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชนวันนั้นสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เธอเรียกว่า 'ความคลี่คลายของยุคสมัย' โดยปัจจัยของความคลี่คลายนี้มาจากการสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่สื่อกระดาษ ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบมากขึ้น โดย 'นิธินันท์' มองว่าสิ่งที่สื่อควรทำในสถานการณ์ที่ออกจะท้าทายเช่นนี้ คือการพิจารณาว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นอยู่นอกกรอบกฎหมายหรือไม่ หากยังอยู่ภายใต้กฎหมายก็ควรรายงานเพื่อเปิดพื้นที่ให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ดิฉันยกย่องชื่นชมเด็กๆ นะคะที่พูดความจริงโดยที่ไม่ผิดกฎหมาย หมายความว่าเราต้องอย่ามองภาพผิดว่าอยู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาพูด มันเป็นความคลี่คลายของยุคสมัย คนก่อนหน้านี้พูดไม่ได้เพราะว่าการปิดกั้นมันเยอะมากนะคะ เพราะฉะนั้นก็น่าอายแทนสื่อเหมือนกัน เพราะจริงๆ อย่างที่บอกว่าเป็นคนสร้างแผนที่สังคมเนี่ย สื่อควรจะเห็นตั้งแต่ต้นนะว่าสังคมควรจะก้าวไปทางไหน ควรจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่นี้ แต่เราก็คิดน้อยไป ก็ต้องโทษตัวเองด้วย แล้วดิฉันในวัยนี้ ก่อนหน้านี้ดิฉันก็ควรที่จะกล้าหาญเพราะอาจคิดถึงประเด็นนี้เหมือนกัน แต่เราก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน ถ้าจะถามว่าเรากลัวไหม บางทีก็ไม่ได้ขนาดนั้นนะแต่ว่าเรารู้สึกว่าเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นต้น แล้วก็เป็นมุมมองอีกแบบ แต่ว่าจริงๆ เราควรจะคิดมากกว่านี้

เพราะฉะนั้นสื่อทำอะไรได้บ้าง ก็เมื่อไรก็ตามที่เราพิจารณาว่าไม่ผิดกฎหมายก็ทำไป ดิฉันคิดว่าเราก็ควรจะเสนอได้ในสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย เอาพูดกันตรงๆ ดิฉันถือว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เด็กๆ กำลังเรียกร้องอยู่ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ผิดกฎหมาย เด็กๆ มีสิทธิพูด คือตราบใดที่ไม่ไปจาบจ้วงบุคคล เรียกด้วยคำหยาบคาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ดิฉันถือว่ามีสิทธิพูดในทางวิชาการด้วย เพราะจะให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แล้วอันนี้เป็นหน้าที่สื่อ อย่างที่ย้ำนะคะ ไม่ได้แปลว่าสื่อเป็นกูรู เป็นปราชญ์ที่จะไปสอนสังคม แต่ว่าหน้าที่สื่อคือเปิดพื้นที่ให้สังคมได้มีความรู้นะคะ” นิธินันท์ กล่าว


ยังไม่หมดหวังต่อการทำหน้าที่ของสื่อไทย

ตลอด 4 ทศวรรษ ของการยึดวิชาชีพสื่อมวลชน ในมุมมองของ 'นิธินันท์' คิดว่าเหตุการณ์ที่ท้าทายวิชาชีพสื่อโดยรวมมากที่สุดคือการชุมนุมของ 'คนเสื้อแดง' เนื่องจากมองว่าสื่อมีส่วนไม่น้อยต่อการแปะป้ายหรือตีตราผู้ชุมนุมว่า “ไม่มีหัวคิด” รับเงินมาประท้วง โดยไม่ให้ความเป็นธรรมหรือพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงออกมาเรียกร้อง

“เป็นครั้งแรกที่สื่อไปสรุป หรือไปชี้หน้าว่าคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมไม่มีหัวคิด เป็นชาวบ้านที่ถูกจ้างมาประท้วงเพื่อคนโกงอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นการใส่ร้ายหมด โดยไม่ให้ความเป็นธรรมกับใครเลย ซึ่งอันนี้หงุดหงิดมากและรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่สื่อทำไมแบบนี้”

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านเหตุการณ์ 'พฤษภาเลือด 2553' มานานกว่า 10 ปี 'นิธินันท์' มองว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นในแวดวงสื่อไทย โดยเห็นความพยายามทบทวนทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงมาจากเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่ก้าวหน้าขึ้นที่ทำให้คนรับสารต้องตั้งคำถามเพิ่มขึ้น จึงทำให้ตัวเองยังไม่หมดหวังกับสื่อและสังคมไทย

“ที่บอกไงคะว่าดีใจค่ะที่หลายคนซึ่งวันนั้นด่วนสรุป ชี้หน้ากล่าวหาคนเสื้อแดงมองเห็นแล้วว่าเขามีเหตุผลมีมุมมองของเขา มีเงื่อนไขต่างๆ อีกมากมายกว่าที่เราจะไปชี้หน้าคนว่าคุณรับสตางค์มา มันไม่ง่ายอย่างนั้นเลย คือบางทีสื่อคิดอะไรง่ายๆ เกินไป เพราะฉะนั้นอย่างที่บอก เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เด็กๆ ตั้งคำถามมากขึ้น มันก็ทำให้หลายคนเกิดความคิดขึ้นมาเหมือนกันน่ะค่ะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เห็นว่าก้าวหน้าขึ้นค่ะ

เป็นคนมองโลกแง่ดีนะคะ มีคนบอกว่าเป็นเจ้าแม่ทุ่งลาเวนเดอร์ ก็ยังเป็นอยู่นะคะ คือหมายความว่านับจากยุค 14 ตุลาฯ ที่เรียนปี 1 จนกระทั่งถึงบัดนี้ บางคนบอกว่าท้อถอยจังเลย ไม่เคยท้อถอยเลยค่ะ เห็นด้านดีเสมอเลย เห็นว่าดีขึ้นๆ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่คนที่แบบว่า โอ๊ย! ประชาธิปไตยต้องได้มาอย่างสมบูรณ์แบบ

“ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในโลก และก็ไม่มีชัยชนะอันเที่ยงแท้ถาวรเด็ดขาดครั้งเดียวค่ะ มีแต่การที่เราต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราเชื่อ ผลักดันเพื่อสิ่งที่เราเชื่อมันเกิดขึ้น ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่างๆ”

“ต้องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราตายค่ะ ซึ่งไม่ใช่ความเหน็ดเหนื่อยเลย ความเหน็ดเหนื่อยคือการมีชีวิตอยู่โดยไม่ทำสิ่งที่เราเชื่อต่างหาก” นิธินันท์ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: