สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพี ประจำไตรมาสที่ 3/2563 ติดลบ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ทว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการปรับตัวดีขึ้นถึง 6.5% เมื่อเทียบกับสัดส่วนติดลบ 12.1% ในไตรมาสก่อนหน้า
เมื่อแยกตามรายเครื่องชี้วัด การเติบโตของภาคส่วนต่างๆ ยังคงชะลอตัวในแดนลบ มีเพียงการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลที่ปรับตัวเป็นบวกมากขึ้นในระดับ 3.4% รายงานชี้ว่า ณ ไตรมาส 3/2563 มีการเบิกจ่ายจากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 6.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 9.5%
ทว่าภาคการส่งออกสินค้าและบริการยังคงติดลบในระดับเลขสองหลักถึง 23.5% เมื่อเทียบกับตัวเลขไตรมาส 3/2562 หรือมีมูลค่าราว 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 1.7 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับการนำเข้าฯ ที่ติดลบหนักถึง 20.3% โดยมีมูลค่าที่ 1.7 ล้านล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.6 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของภาคเอกชน และการสะสมทุนภารเบื้องต้นของทั้งรัฐบาลและเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นมาอยู่ในระดับติดลบ 0.6% และ 2.4% ตามลำดับ จากตัวเลขเดิมในไตรมาส 2/2563 ที่ระดับติดลบ 6.8% และ 8% ตามลำดับ
สภาพัฒน์มองว่าจีดีพีทั้งปีของไทยน่าจะหดตัวที่ระดับ 6% ก่อนจะกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ 3.5% - 4.5% ในปี 2564 จาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 3.แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและมาตรการทางเศรษฐกิจ และ 4.ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563