ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุขทำโครงการร่วมผู้ประกอบการโรงแรมเปลี่ยนเป็น "Hospitel" ลดความแออัดโรงพยาบาลช่วงโควิด-19 ระบาด เบื้องต้นมี 18 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ผู้ประกอบการชี้ "ไม่ใช่เวลาคิดถึงกำไร แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผ่านพ้นวิกฤต"

ที่โรงแรมเดอะพาลาสโซ ถนนรัชดาภิเษก กทม. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเตรียมพร้อมเปลี่ยนโรงแรมเป็น Hospitel ช่วยลดแออัดโรงพยาบาล ช่วงไวรัสโควิด -​19 แพร่ระบาด โดยมีผู้บริหารโรงแรมเดอะพาลาสโซ และโรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท เป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ ที่เข้าร่วมโครงการร่วมแถลงด้วย

โดยนายสาธิต กล่าวขอบคุณผู้บริหารโรงแรมทุกแห่งที่ร่วมโครงการนี้ ส่วนที่สนใจกำลังประเมินให้ผ่านมาตรฐานซึ่งผู้ประกอบการ เสนอเข้ามาจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯปริมณฑลและในต่างจังหวัด รวมถึงในจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีผู้ป่วยทั้ง ชลบุรี ภูเก็ตและเชียงใหม่


"เดิมทีคิดว่าจะไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเนื่องจากรับผู้ป่วยมาพักฟื้นแล้ว อาจเสียภาพลักษณ์ของโรงแรมทำให้ไม่มีแขก ซ้ำเติมสภาพปัจจุบัน ที่ไม่มีแขกเข้าพักอยู่แล้ว แต่มีผู้ประกอบการสนใจโครงการจำนวนมาก" นายสาธิต ระบุ


ด้านผู้บริหารทั้งสองโรงแรม ต่างระบุว่า แม้กังวลเรื่องภาพลักษณ์ แต่ต้องทำเพื่อชาติ แต่ด้านกลับก็อาจได้รับความเห็นใจในฐานะผู้เสียสละ คนอาจจะมาอุดหนุน และส่วนหนึ่งจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีขั้นตอนและมาตรฐานเพื่อดูแลทำความสะอาดให้กลับมาสภาพดีเหมือนเดิมด้วย พร้อมยืนยันด้วยว่า ไม่มีเวลาคิดมากในเรื่องนี้ เพราะชีวิตคนสำคัญกว่า และเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้


มีโรงแรมยื่นความประสงค์ร่วมโครงการ 1,600 ห้อง

นพ.ธเรศ ระบุถึงจำนวนห้องพักที่เปลี่ยนเป็น Hospitel ในขณะนี้รวมกว่า 1,600 ห้อง เบื้องต้นมีทั้งหมด 18 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนในต่างจังหวัดที่สำคัญคือจังหวัดชลบุรี มีห้องอย่างน้อย 15 แห่ง, นครราชสีมา มี 8 แห่ง และเชียงใหม่มี 6 แห่ง รองรับสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องปรับตัวและมีพื้นที่จำกัด รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้น

สำหรับเงื่อนไขที่ จะรองรับผู้ป่วยมี 5 ข้อคือ 

1. ต้องนอนโรงพยาบาลหลักมาแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ 

2. ไม่มีอาการเหลืออยู่มาก อาจมีไอนิดหน่อย แต่ต้องไม่มีไข้ และหากมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานและความดันก็สามารถยังส่งมาพักที่Hospitel

3. ผู้ป่วยต้องยินดีที่จะมาพัก ซึ่งต้องมีการประเมินทางจิตโดยต้องไม่ก้าวร้าวหรือมีภาวะซึมเศร้า

4. ผู้มีโรคประจำตัว หมอต้องจัดยามาเผื่อด้วย

5.โรงพยาบาลหลักที่ส่งมาต้องยินดีรับกลับหากคนไข้อาการแย่ลง


เดอะพาลาสโซแถลงข่าว_200402_0060.jpg


สำหรับมาตรการดูแลจะมีการเตรียมหมอ 3-5 คนต่อผู้ป่วย 100 คน แต่ละห้องพัก จะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างน้อย 2 ชิ้นคือ เครื่องวัดไข้อัตโนมัติ หรือเทอโมมิเตอร์ กับเครื่องวัดดิจิตอลออกซิเจนที่ปลายนิ้ว โดยผู้ป่วยที่เข้าพักจะอยู่ในห้องตลอดเวลายกเว้นเที่ยง มีการบริการอาหารที่ต้องออกมานำอาหารกลับเข้าไปทานในห้อง

นพ.สมศักดิ์ ย้ำถึงโครงการนี้ที่ เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการรักษา เป็นพลังร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เมื่อจบโครงการจะทำความสะอาดให้โรงแรมเปิดบริการได้ตามปกติ ซึ่ง จะเป็นต้นแบบให้ภูมิภาคต่างๆดำเนินการด้วย นอกจากนี้ยังย้ำถึงการให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตทั้งทีมแพทย์และผู้ป่วย โดยจะมีจิตแพทย์ คอยดูแลเรื่องนี้ในแต่ละแห่งด้วย

ส่วนค่าตอบแทนของผู้ประกอบการโรงแรมที่เข้าโครงการ สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ห้องพักของกองทุนต่างๆ ตามที่โรงแรมตกลงไว้กับโรงพยาบาลหลักที่รับผู้ป่วยมา โดยอาจคิดเป็นรายห้องหรือรายหัว แต่อัตราที่เบิกได้จากกองทุนต่างๆนั้นถือว่าเป็นการเกื้อกูลกันและไม่หวังกำไร ซึ่งกองทุนที่ดูแลเรื่องนี้โรงพยาบาลจะเป็นผู้เบิกจ่าย คล้ายกับการ เช่าเตียง หรือเช่าห้องพัก ในอัตราปกติของทางการ

ขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สนับสนุนกล้อง CCTV ให้ติดประจำทุกห้อง, สนับสนุนอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกันสำหรับแพทย์และผู้ป่วย 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :