ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงาน กกพ. เพิ่มพื้นที่เยียวยาผ่อนระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟใน 17 พื้นที่ประสบภัย"ปาบึก" ด้าน ธอส. ผ่าน 6 มาตรการพิเศษพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้เงินซ่อม/สร้าง และปลอดหนี้บางส่วน

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงาน กกพ. ประสานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อบรรเทาภาระผู้ใช้ไฟโดยการผ่อนระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าในพื้นที่ที่ประสบภัยเกินกำหนดรวมทั้งให้งดตัดไฟ และเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามจริง โดยประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในฐานะผู้จำหน่ายไฟฟ้ารับอนุญาตจาก กกพ. ดูแลพื้นที่ประสบภัย หรือการเกิดน้ำท่วมสูง ให้มีมาตรการเยียวยาที่มีผลทันที ได้แก่ การขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า การงดตัดไฟฟ้า และการไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่เกิดการกระแสไฟฟ้ารั่วลงน้ำในพื้นที่

ธอส.พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่าน 6 มาตรการ

นานฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า ตามที่หลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ปาบึก" ซึ่งจะมีผลให้เกิดอุทกภัย ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและอาจส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชยได้ร้บความเสียหายและประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ธอส. จึงได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลง โดยเตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท จัดทำ "โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562" โดยธนาคารจะพิจารณาตามระดับความเสียหาย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือ คู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00%  ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น