ไม่พบผลการค้นหา
โดยรวม มันเป็นงานที่ทั้งการเขียนบทและถ่ายทำดูตั้งใจ ไม่ดูถูกผู้ชม เพราะ “หนังดูง่ายที่ไม่ได้ทำง่าย” แต่ “หนังทำยาก-ดูง่าย” เป็นหนังดีหรือไม่ ต้องถกเถียงกันอีกยาว

มีภาพยนตร์บางเรื่องที่เราดูเทรลเลอร์ปุ๊บก็คาดการณ์ได้ทันทีว่าโกยเงินระดับร้อยล้านบาทแน่นอน ซึ่ง ‘Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน’ ก็ดูเข้าข่ายที่ว่าด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งการเป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้จากค่าย GDH ที่มีภาพจำว่า ‘เชื่อถือได้’ สำหรับหนังแนวนี้, มีพระเอกนางเอกหล่อสวยเสน่ห์เหลือล้น, การเข้าฉายในช่วงวันวาเลนไทน์ ทั้งหมดทั้งมวลทำให้แค่วันแรกหนังก็ทำเงินไป 14 ล้านบาทแล้ว

เรื่องราวของ Friend Zone ว่าด้วย ปาล์มกับกิ๊ง คู่หนุ่มสาวที่เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม แม้จะมีใจให้กันแต่ด้วยความปากหนัก ทำให้ทั้งคู่เป็นเพียงเพื่อนกันมาตลอดสิบปี ซึ่งเอาจริงๆ พล็อตหนังทำนองนี้ค่าย GDH (และสมัยที่ยังเป็น GTH) เคยทำมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะ ‘เพื่อนสนิท’ หรือตอนย่อยใน ‘ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น’ ดังนั้นคงต้องพูดตรงๆ ว่า Friend Zone ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ โดยเฉพาะถ้าเทียบในบรรดาหนังของ GDH


Friend-Zone-13.jpg

แต่ถ้าถามว่าการทำหนังวนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ขำๆ เป็นเรื่องผิดมั้ย คำตอบก็คง ‘ไม่’ นอกจากเหตุผลทางธุรกิจแล้ว เรื่องพวกนี้ก็เป็นอะไรที่ใกล้ตัว คนดูเข้าถึงง่าย เหมือนกับที่ตำราเขียนบทบางเล่มกล่าวไว้ว่า “ความคลิเช่คือความแท้จริงของชีวิต” แต่จะน่าเสียดายก็ตรงที่ GDH ไม่ได้ก้าวออกจาก Comfort Zone เท่าใดนัก โดยเฉพาะถ้ามองในส่วนของผู้กำกับ 'ชยนพ บุญประกอบ' ที่เคยสร้างผลงานฮาแหวกขนบอย่าง ‘เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ’ มาก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนค่อนข้างเพลิดเพลินกับความยาวสองชั่วโมงของ Friend Zone การแสดงเป็นสิ่งที่แข็งแรงมากของหนัง ทั้งใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ที่ช่วงต้นปีหน้าน่าจะเข้าชิงสาขานำหญิงในหลายเวที ส่วนนาย-ณภัทร ก็ทำได้ดีเกินคาด แม้ว่าฉากตลกหลายฉากจะยังดูฝืนๆ (รวมไปถึงการใส่ชุดนักเรียนมัธยมที่ชวนกระอักกระอ่วน) หรือหากพิจารณาองค์ประกอบโดยรวม มันก็เป็นงานที่ทั้งการเขียนบทและถ่ายทำดูตั้งใจ ไม่ดูถูกผู้ชม อาจพูดได้ว่าเป็น “หนังดูง่ายที่ไม่ได้ทำง่าย” แต่ “หนังทำยาก-ดูง่าย” เป็นหนังดีหรือไม่ อันนี้ต้องถกเถียงกันอีกยาว


Friend-Zone-20.jpg

ส่วนประเด็นการ ‘ไทอิน’ สินค้าชนิดไม่บันยะบันยังผู้เขียนไม่ได้หงุดหงิดอะไรนัก เพราะดูหนังไปสักพักก็ปรับโหมดตัวเองเสมือนว่ากำลังดูหนังโฆษณาขนาดยาวของสายการบินชื่อดัง แต่ประเด็นที่ผู้เขียนตะขิดตะขวงใจน่าจะเป็นเรื่องชุดความคิดและทัศนคติของตัวละครมากกว่า

โดยไม่ต้องใช้ความสังเกตนัก เราจะพบว่า Friend Zone เล่าผ่านมุมมองของพระเอก (ปาล์ม) เป็นหลัก บ้างก็ว่าหนังดู ‘เข้าข้าง’ พระเอกจนชัดเจน เช่นว่านิสัยเจ้าชู้ของปาล์มถูกนำเสนอออกมาอย่างทีเล่นทีจริงและดูน่ารัก ขณะที่ตัวนางเอก (กิ๊ง) กลับมีความงี่เง่าสารพัดอย่างชัดเจน ซึ่งผู้เขียนก็เบะปากใส่นางเอกอยู่หลายฉาก แต่การแสดงของใบเฟิร์นช่วยทำให้ไม่เกลียดตัวละครนี้จนเกินไปนัก


Friend-Zone-18.jpg


[บทความต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์]

หนังปูมาตั้งแต่ต้นเรื่องว่ากิ๊งเป็นคนยึดมั่นในแนวคิดแบบ Monogamy (ความสัมพันธ์ผัวเดียวเมียเดียว) เธอมีบาดแผลในใจจากการจับได้ว่าพ่อมีชู้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ก็หวาดระแวงว่าแฟนตัวเองจะนอกใจ ซึ่งการเชื่อใน Monogamy ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากแต่ในขณะที่กิ๊งอยากให้คนอื่นมีความสัมพันธ์แบบ Monogamy กับเธอ ตัวกิ๊งเองกลับไม่ได้ยึดในหลักการนี้อย่างเคร่งครัด กิ๊งรู้ว่าปาล์มชอบเธอ เธออ่อยเขา เธอใช้ประโยชน์จากเขา เธออยากลองนอกใจมาคบกับปาล์มเพื่อแก้แค้นคนรัก


Friend-Zone-14.jpg

เช่นนั้นแล้ว ปัญหาของกิ๊งจึงไม่ใช่เรื่อง Friend Zone หากแต่เป็น Monogamy Zone เพราะเธอตกอยู่ในความขัดแย้งในตัวเอง (Paradox) ของความเชื่อเรื่อง Monogamy ซึ่งผู้เขียนมองว่านี่คือปัญหาใหญ่ของเธอ

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงท้ายของหนัง กิ๊งยังลากปาล์มเข้าสู่ Monogamy Zone ด้วยการขอเขาแต่งงาน การแต่งงานก็อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด Monogamy ในอุดมคติมันคือการประกาศทางการว่าทั้งสองจะครองรักกัน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับใครอื่นอีก ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าการที่กิ๊งกับปาล์มมองว่าการแต่งงานเป็น ‘ก้าวต่อไป’ ของความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องที่เข้าท่าหรือไม่

แม้จะไม่เห็นด้วยหรือรำคาญตัวละครทั้งสองอยู่บ้าง แต่ก็ขอพูดด้วยความสัตย์จริงว่าผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่ากิ๊งและปาล์มจะมีความสุขด้วยกัน

แต่จากการตัดสินใจแต่งงานที่ดูเลื่อนลอยบวกกับนิสัยของทั้งคู่ ทำให้อดห่วงไม่ได้ว่าพวกเขากำลังพาตัวเองเข้าสู่ Danger Zone ครั้งใหญ่ของชีวิต


Friend-Zone-22.jpg