ไม่พบผลการค้นหา
ภรป. แถลงการณ์เรียกร้องตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. ดันประธานรัฐสภาตั้งเวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อ รธน. พร้อมเตือนสมาชิกรัฐสภาไม่เป็นเครื่องมือสถาปนาอำนาจนิยม ชี้สภาฯ คว่ำตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม. 44 เตรียมใช้ภาคประชาชนตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบ ม.44 แทน

5 ธ.ค. 2562 ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กรณีการล้มกรรมาธิการศึกษาผลกระทบมาตรา 44 พร้อมเตือนอำนาจนอกระบบโดยแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องด้วยสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไขผลจากประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารคณะต่าง ๆ และศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของกฎหมายที่บัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขผลกระทบต่างๆและเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากประกาศและคำสั่งต่างๆของ คสช

ขอเตือนท่านสมาชิกรัฐสภาอย่าตกเป็นเครื่องมือของแผนอันแยบยลซับซ้อนของผู้ที่ต้องการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมด้วยการทำลายภาพพจน์ของรัฐสภา และ สร้างให้เกิดสถานการณ์ว่า “รัฐสภา” ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เมื่อมีการสร้างสถานการณ์ต่างๆและเงื่อนไขต่างๆไปถึงจุดหนึ่งก็จะมีการใช้อำนาจนอกระบบหรือการรัฐประหารมาระงับเหตุการณ์ที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสร้างสถานการณ์ขึ้นมา แล้วพวกเราประชาชนชาวไทยทั้งหลายก็จะไม่มีเวทีรัฐสภาที่มาจากประชาชนไปอีกนาน “ประชาธิปไตย” ก็จะถูกพรากไปจากประชาชนและ “ลูกหลาน” ของพวกเราทุกคน “สิทธิเสรีภาพ” จะถูกปิดกั้นคุกคามเฉกเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประชาธิปไตยเท่าไหร่นักจะถูกแทนที่ด้วยระบอบการปกครองแบบเผด็จการที่เป็นไปตามอำเภอใจของคณะรัฐประหาร ขอให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านดำเนินการต่างๆด้วยความรัดกุมรอบคอบเพื่อช่วยกันประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้เดินหน้าต่อไปด้วย

ประกาศและคำสั่งต่างๆตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช นั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ไม่เป็นไปตามหลักแบ่งแยกอำนาจ การปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และ หลักนิติรัฐนิติธรรม เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงต้องแก้ไขและลบล้างผลพวงของรัฐประหาร สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในอนาคตภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาลไม่ทำหน้าที่และไม่ใช้เวทีของรัฐสภาในการศึกษาและเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากประกาศและคำสั่งในสมัยเผด็จการรวมทั้งยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคม ทาง ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะได้ร่วมกับองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรภาคประชาชนต่างๆหารือเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 และ รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอเป็นกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากมาตรา 44 และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้ง ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ต่อไป

แถลงการณ์ ระบุว่า การปกครองนั้นจะดำเนินไปไม่ได้ หากปราศจากความยุติธรรม กฎหมายหรือคำสั่งที่กำหนดด้วยอำนาจรัฐเผด็จการย่อมขาดความชอบธรรมในการบังคับใช้กับประชาชนเมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงเพิ่มขึ้น ประชาชนย่อมมีสิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ในกรณีถูกอำนาจรัฐเผด็จการกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมหรือจับดำเนินคดีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจรัฐตามมาตรา 44 โดยไม่สมควรแก่เหตุสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนและภาคเอกชนต้องได้รับการแก้ไขตามวิถีทางแห่งกฎหมายตามมาตรฐานสากล

กฎหมายต่างๆรวมทั้งรัฐธรรมนูญ คือ การแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนในชาติผู้เป็นเจ้าของประเทศ กฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทุกคนจะเคารพกฎหมายมากขึ้นเพราะสังคมปกครองโดยกฎหมายที่ทุกคนมีส่วนร่วม ความสันติสุขจักบังเกิด พร้อมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ

ขณะนี้ยังมีญัตติสำคัญที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดไป คือ การขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในส่วนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านประธานรัฐสภาให้จัดตั้ง “เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน” เพื่ออำนวยให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรี เป็นธรรม และปลอดภัย โดยเวทีนี้จะมีหน้าที่สำคัญคือ จัดการถกแถลงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางทุกจังหวัด และประมวลความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงความกังวล ความต้องการ และความคาดหวัง เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและสาธารณชนต่อไป จนบัดนี้ได้ล่วงเลยเวลามาตามสมควรแล้ว ทาง ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจึงขอทวงถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ” และ ข้อเสนอให้จัดตั้ง “เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน” และ ทางภาคีฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐสภาจะได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่สำคัญดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

ทาง ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะได้ร่วมกันสร้าง “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสปิริตประชาธิปไตยของระบบการเมืองและระบบกฎหมายของไทย