ไม่พบผลการค้นหา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค.ติดลบร้อยละ 3.44 แบงก์ชาติย้ำเงินเฟ้อไทยติดลบติดกัน 3 เดือน จากราคาพลังงาน ยังไม่เข้านิยาม 'ภาวะเงินฝืด' ตามนิยามธนาคารกลางยุโรป แจงสถานการณ์ระยะยาวเงินเฟ้อไทยยังบวกอยู่ที่ร้อยละ 1.8

ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศสถานการณ์เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ ประจำเดือน พ.ค.2563 ซึ่งพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบถึงร้อยละ 3.44 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพหลายอย่างของภาครัฐ ทั้งยังเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.และ มี.ค.ที่ตัวเลขอยู่ที่ติดลบร้อยละ 2.99 และ 0.54 ตามลำดับ

ธปท
  • ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินอิงนิยามภาวะเงินฝืดตามธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งประกอบไปด้วยเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้

  • อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period)
  • อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
  • การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย
  • อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้น หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อไทยที่ติดลบมาเพียงสามเดือนซึ่งมีสาเหตุจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และแม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท.จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ก็ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้

พาณิชย์

โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ร้อยละ 1-3 ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก ซึ่ง ธปท.ย้ำว่าจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ด้านนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 99.76 หรือลดลงร้อยละ 3.44 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 ถือเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นั้บตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552 ที่ติดลบร้อยละ 4.4 โดยส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค หลังจากติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ซึ่งค่าดัชนีล่าสุดปรับลดลงไปเท่ากับช่วงที่เกิดวิกกฤตซับไพร์ม หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

แต่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมีมากกว่าสินค้าที่มีราคาลดลง จึงไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการอย่างครบถ้วน ที่หากจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริง จะต้องเป็นการลดราคาของสินค้าจำนวนมาก ซึ่งในเดือน พ.ค. สินค้าที่ปรับราคาลดลงมากๆ เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันในเดือนนี้ ปรับลดลงกว่าร้อยละ 27 รวมถึงราคาอาหารสด อาทิ ผักสดที่ปรับราคาลดลงสูง หากเทียบกับปี 2562 ที่มีฐานราคาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดปีนี้ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ปีนี้ราคาปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยยืนยันว่าถึงแม้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ แต่ตัวราคาและความเคลื่อนไหวต่างๆ ยังไม่น่ากังวล เพราะปัจจัยที่สะท้อนอยู่ในเงินเฟ้อพื้นฐานยังบวกได้อยู่

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง เป็นเพราะการระบาดไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน