'ซอ' (นามสมมติ) แรงงานชาวเมียนมา เล่าชะตาชีวิตกับ 'วอยซ์' หลังที่ทำงานของเขากลายเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปัจจุบันเขาเป็นลูกจ้างโรงงานแปรรูปอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีแรงงานไทยและต่างชาติรวมกันราว 1,000 คน
ความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติจะแยกออกมาอาศัยในแคมป์คนงาน แบ่งเป็น 1 ห้องนอนต่อ 4 คน มีผู้อาศัยอยู่ร่วมกันราว 200 คน บางครอบครัวก็มีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย
หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เขาเล่าว่า ความเป็นอยู่ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แรงงานต่างชาติในโรงงานแปรรูปอาหารยังคงอาศัยร่วมกันในที่พัก กระทั่งระลอกเมษายนที่เริ่มระบาดตามแคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง แคมป์ของ 'ซอ' ก็เริ่มมีผู้ติดโควิดเป็นแรงงานเมียนมาเช่นเดียวกัน
เขาบอกอีกว่า ที่ผ่านมานายจ้างกลับปกปิด ไม่เคยแจ้งให้คนงานรับรู้เลยว่า ก่อนหน้านี้โรงงานของเขามีแรงงานคนไทยติดไปแล้ว ทุกคนยังคงทำงานกันโดยไม่รับรู้ว่าจะมีข่าวร้ายมาถึง
"มีนายจ้างและเจ้าหน้าที่ โทรมาบอกว่าให้พวกเรากักตัวไปก่อน 14 วัน ส่วนคนติดโควิด ตอนนั้นเขาก็ยังอยู่ในแคมป์ แต่อยู่กันคนละห้อง"
"ตอนที่รู้ข่าว จิตใจคนในแคมป์ย่ำแย่มาก เพราะกังวลกันว่าจะติดเชื้อไหม เราคาดเดากันไปโดยไม่ได้รับการตรวจ บางคนเป็นสามี-ภรรยาก็ต้องมาระแวงว่าอีกฝ่ายมีเชื้อโควิดไหม" ‘ซอ’ เปลือยความรู้สึกอัดอั้น
ไม่เพียงแต่ความหวาดระแวงในกลุ่มแรงงาน พวกเขายังกลายเป็นคนแปลกหน้าในชุมนุมละแวกใกล้เคียง หลังชาวบ้านเริ่มรู้ข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อ ร้านรวงที่เคยจับจ่ายซื้อของก็เริ่มไม่อยากขายให้
"คนที่กักตัวอยู่ในแคมป์เวลาไม่มีของกิน พอออกไปซื้อเขาก็ถามว่าทำงานที่ไหน ถ้าตอบว่ามาจากโรงงาน เขาก็จะไม่ขายให้"
"ทราบมาว่าหลังกักตัวเสร็จจะมีการเปิดโรงงานอีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความโปร่งใส ก็ไม่มีใครอยากไปทำงาน" ซอ หวังได้รับการเหลียวแล
สถานการณ์ในแคมป์เริ่มคลายความตึงเครียดเมื่อผู้ป่วยถูกนำตัวออกไปรักษา ขณะที่ซอและเพื่อนแรงงานได้รับการฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ซอและเพื่อนร่วมชะตากรรมยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายในแคมป์ต่อไป
ทว่าการยกระดับมาตรการความปลอดภัยภายในที่พักยังไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง ทุกคนยังคงใช้ชีวิตเช่นเดียวกับอยู่ในภาวะปกติ ไม่มีการเข้ามาทำความสะอาดหรือพ่นยาฆ่าเชื้อ
ตอนนี้สิ่งที่ซอและเพื่อนแรงงานต้องการ คือ ความชัดเจนจากทางโรงงานกรณีเงินชดเชย เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่าจะเงินที่มีอยู่จะพยุงชีวิตไปได้อีกกี่วัน
"ตอนนี้อยู่กันลำบากมาก เงินชดเชยก็ไม่มี บางครอบครัวต้องดิ้นรนด้วยการทำอาหารหรือขนมพื้นเมือง (เมียนมา) ขายกันเองในแคมป์ เพื่อหารายได้ประทังชีวิต"
เขาเล่าอีกว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินเก็บเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะต้องโอนเงินไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด หลังจากกักตัวมากว่า 2 สัปดาห์ หลายคนเริ่มไม่เงินหมุนเวียน โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวยิ่งประสบปัญหาหนัก
แม้ว่าจะพยายามสอบถามไปยังนายจ้าง เพื่อทวงถามสิทธิและระยะเวลาการปิดโรงงาน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากนายจ้างบอกว่าต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของทางจังหวัด
"ตอนนี้เหมือนถูกลอยแพ ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย อยากให้นายจ้างหรือหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลในเรื่องอาหารหรือการชดเชยโดยเร็ว"
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานออกมาตราจ่ายเงินชดเชยแก่แรงงานของสถานประกอบการที่ถูกปิดแบบ Bubble and Seal ตามคำสั่ง ศบค. 50% ของค่าจ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น (ไม่รวมแรงงานต่างชาติที่ไม่อยู่ในระบบจำนวนมาก) ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้ ‘ซอ’ จะเป็นแรงงานต่างชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่เขาก็ยังพบแต่ความเงียบจนปัจจุบัน
ไม่เพียงคนไทยที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขและเงินเยียวยาอย่างยากลำบาก แต่ยังมีคนต่างชาติผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการพัฒนาประเทศไทยอย่างสำคัญที่ร่วมชะตากรรมอยู่ด้วย
ยอดตัวเลขของผู้ป่วยในจังหวัดปัตตานี ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ 1 เม.ย.-12 ก.ค.2564 จังหวัดปัตตานีมียอดผู้ป่วยสะสม 4,588 เสียชีวิต 43 ราย โดยมีคลัสเตอร์ 3 จุดเฝ้าระวัง ประกอบไปด้วย 1.คลัสเตอร์โรงงาน 2.คลัสเตอร์มัรกัส 3.คลัสเตอร์ในชุมนุม
'วอยซ์' ได้พูดคุยกับ 'ทพ.สัมฤทธิ์ จิโรจน์วาณิชชากร' หรือ หมอเป็ด โฆษกสื่อสารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดปัตตานี เพื่ออัพเดทสถานการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟฟริกาใต้ (เบต้า) ทะลักเข้ามา และมาตรการดูแลประชาชนและแรงงานข้ามชาติในปลายด้ามขวาน
"ในส่วนของโรงงาน เราไม่กังวลมาก เพราะโรงงานมีรายชื่อคนงาน มีการควบคุมต่างๆ ค่อนข้างดี โดยใช้มาตราบับเบิ้ลแอนด์ซีลพื้นที่ สิ่งที่เราเป็นห่วงคือคลัสเตอร์มัรกัส เพราะมีบางกลุ่มไม่ได้เปิดเผยชื่อ กว่าจะรู้ตัวว่าไปมัรกัสมา เขาก็มีอาการหนักแล้ว"
หลังการปิดแคมป์คนงานแล้ว โฆษกสื่อสารฯโควิด-19 ปัตตานี ยืนยันว่า มีการติดตามตาม และดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น สำหรับคนที่เป็นโรคก็ต้องเข้าสู่ระบบการรักษา หากใครมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็สามารถออกมาได้ ในส่วนโรงงานปลากระป๋องนั้นไม่ต้องกังวล เพราะอยู่ในการดูแลของทางจังหวัดอยู่แล้ว
ทพ.สมฤทธ์ เน้นย้ำความมั่นใจว่า หากประชาชนยังเข้มงวดกับมาตรการสาธารณสุข ไม่ว่าสายพันธุ์อะไรก็สามารถควบคุมการระบาดได้ และยืนยันว่าแม้ตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นหลักร้อยมาร่วมสัปดาห์ แต่ยังยืนยันว่าทีมงานด่านหน้าของปัตตานียังคงควบคุมสถานการณ์ได้
"การตรวจเชิงรุกของทีม การทำงานฝ่ายสืบสวนโรคทำได้ดีมาก เพราะสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เล็ดรอดออกมาแพร่เชื้อได้ยากขึ้น"
ส่วนการระบาดในโรงงาน กลุ่มแรงงานไทยเจ้าหน้าที่ได้มีรายชื่อทั้งหมด จึงง่ายต่อการติดตามค้นหากลุ่มเสี่ยง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาในขั้นต่อไป ขณะที่การดูแลแรงงานข้ามชาติเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัด
สำหรับการกระจายวัคซีนภายในจังหวัดนั้น ทพ.สมฤทธ์ เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าไปที่กลุ่มอายุ 60 ปี และ 7 กลุ่มโรค เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด โดยนโยบายส่วนกลางนั้นจำเป็นต้องฉีดให้คนไทยก่อน 70% ขณะที่แรงงานข้ามชาติจะอยู่ในลำดับถัดไป
"เวลาเราให้วัคซีน ขออย่ากังวลว่าทำไมคนนี้ได้ ฉันไม่ได้ ส่วนนี้มันนี้อยู่ในแผนของทางจังหวัดแล้ว" โฆษกสื่อสารโควิดปัตตานี กล่าวทิ้งท้าย
จากสถิติของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เดือน ส.ค. 2563 แรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม 1.7 ล้านคน แต่พบว่ามีเพียง 1.05 ล้านคน และคาดว่าแรงงานหายไปจากระบบเกือบ 700,000 คน หรือ 34 %
เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งถูกสั่งปิด และเกิดปัญหาทางกฎหมายเพราะเมื่อเปลี่ยนนายจ้าง ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติจะต้องหานายจ้างใหม่ใน 30 วัน เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้หลายรายหลุดออกจากระบบ เพราะไม่มีสถานประกอบการรองรับ
ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดระลอกเดือนเมษายนล่าสุดวันที่ 12 ก.ค.มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อสะสม จำนวน 47,550 คน แบ่งเป็น
อดิสร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ บอกกับ 'วอยซ์' ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทุกแคมป์คนงานตอนนี้มีความเสี่ยงเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะแคมป์ขนาดเล็กมักจะถูกมองข้ามในการเข้าไปตรวจตรา อีกทั้งข้อจำกัดด้านสาธารณสุขของภาครัฐ ทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษา แม้ว่าบางรายจะมีสิทธิประกันสังคม แต่ที่น่าวิตกคือกลุ่มที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงอาจจะหลุดรอดออกไปแพร่เชื้อได้
ที่ผ่านมา 'อดิสร' เผยว่าแรงงานข้ามชาติ มีผู้เสียชีวิตทุกสัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ 1.ได้รับเชื้อแล้วเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการรักษา 2.เสียชีวิตระหว่างรอการเข้าถึงการรักษา
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้เสนอแนวทาง 4 ประการ ประกอบไปด้วย
1.รัฐบาลต้องเร่งเปิดจดทะเบียนให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารลงทะเบียน เพื่อเข้าถึงการรักษาปิดช่องโหว่การแพร่ระบาด
2.ในภาวะขาดแคลนเตียงรักษา รัฐต้องมีการเข้าไปสื่อสารและออกมาตรการให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการจัดตั้ง รพ.สนามในแคมป์คนงานอย่างไร
3.เงินชดเชยที่เหมาะสม เพื่อให้กลุ่มแรงงานเชื่อใจได้ว่า แม้พวกเขาถูกกักตัวและไม่มีรายได้รัฐจะดูแลพวกเขาได้
4.รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
"ที่ผ่านมาเราก็เสนอโมเดลไปที่กระทรวงแรงงานและสํานักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากทางภาครัฐ อาจจะขัดกฎระเบียบหรือปัญหาส่วนใดก็ไม่ทราบ มันเลยนำไปสู่การออกนโยบายที่ไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเลย" อดิสร กล่าวทิ้งท้าย