ไม่พบผลการค้นหา
กรณีสาวซาอุดีวัย 18 หลบหนีการกดขี่ของครอบครัว ใกล้ได้ข้อยุติ หลังยูเอ็นยอมรับ เข้าข่ายเป็นผู้ลี้ภัย พร้อมขอให้ออสเตรเลียรับดูแล ขณะที่ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลียมีกำหนดเยือนไทย-ลงนามความร่วมมือ-เล็งโน้มน้าวไทยปล่อยตัว 'ฮาคีม' ผู้ลี้ภัยอีกรายซึ่งถูกกักตัวไว้ตั้งแต่ พ.ย.61

ในวันพุธ (9 ม.ค.) กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียแถลงว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ลงความเห็นแล้วว่า นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน เป็นผู้ลี้ภัย และได้ร้องขอให้ออสเตรเลียรับตัวเธอไปตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย

ขณะนี้ นางสาวราฮาฟอยู่ในความดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์ในกรุงเทพฯ หลังจากเธอถูกกักตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อสุดสัปดาห์ และร้องขอที่จะไปลี้ภัยในออสเตรเลีย

เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียแสดงท่าทีอย่างแข็งขันว่า พร้อมจะรับคำขอของเธอ รัฐมนตรีสาธารณสุข เกร็ก ฮันท์ กล่าวว่า ถ้ายูเอ็นเอชซีอาร์เห็นว่า เธอเป็นผู้ลี้ภัย เราจะพิจารณาด้วยความจริงจังอย่างยิ่งในการออกวีซ่าให้เธอด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า พ่อและพี่ชายของราฮาฟเดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันอังคาร แต่เธอไม่ยอมพบหน้าคนทั้งสอง ทั้งคู่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์แล้วเมื่อช่วงเช้าวันพุธ โดยจะเดินทางกลับซาอุดีอาระเบียในวันนี้

สถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ บอกว่า รัฐบาลริยาดไม่ได้ร้องขอให้ไทยส่งเธอกลับประเทศ กรณีนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว

  • การเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์ ช่วยให้เรื่องของราฮาฟได้รับความสนใจจากนานาชาติ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ราฮาฟได้ยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวในออสเตรเลียก่อนที่จะหลบหนีจากครอบครัว โดยตั้งเป้าว่าจะยื่นเรื่องขอลี้ภัยเมื่อไปถึงปลายทาง แต่เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรอต่อเครื่องกลับถูกกักตัวและยึดพาสปอร์ต ทั้งยังมีรายงานว่าทางการไทยจะส่งตัวกลับไปยังซาอุดีอาระเบีย เพราะครอบครัวแจ้งว่าเธอหนีออกจากบ้าน แต่เธอยืนยันว่าต้องการลี้ภัย เนื่องจากไม่ต้องการถูกครอบครัวกดขี่และทำร้ายร่างกาย

ราฮาฟขังตัวเองในห้องพักที่สุวรรณภูมิ พร้อมทั้งทวีตขอความช่วยเหลือจากผู้ใช้ทวิตเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ จนกลายเป็นกระแสติดแฮชแท็ก #SaveRahaf ที่คนทั่วโลกสนใจ นำไปสู่การเรียกร้องให้ราฮาฟได้พบกับตัวแทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ในตอนแรก ตำรวจไทยให้ข้อมูลว่าราฮาฟเดินทางโดยไม่มีเอกสารและวีซ่าที่ถูกต้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องกักตัวและตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่สายการบินคูเวตที่ให้ราฮาฟโดยสารมายังไทยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบที่ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารของผู้เดินทางมากับสายการบินอย่างละเอียด แต่ราฮาฟได้เปิดเผยเอกสารกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ยืนยันว่าเธอได้รับวีซ่าท่องเที่ยวออสเตรเลียจริง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันกับคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย

ขณะที่วันนี้ ทางการออสเตรเลียประกาศว่าได้ยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวของราฮาฟแล้ว แต่จะพิจารณาวีซ่ารับรองสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียโดยเร็วที่สุด

AFP-SaveHakeem-ฮาคีม อัลอาไรบี-นักบอลลี้ภัยการเมือง-บาห์เรน-ไทย.jpg


  • ภาคประชาสังคมและนักสิทธิมนุษยชนในออสเตรเลียเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวฮาคีม

นอกจากนี้ เว็บไซต์เอสบีเอสนิวส์ รายงานว่า มารีส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลีย เปิดเผยกับสื่อว่า ในระหว่างที่เธอเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค. 2562) เพื่อลงนามความร่วมมือด้านไซเบอร์ระหว่างสองประเทศ เธอจะล็อบบี้ให้ไทยปล่อยตัว 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' ผู้ลี้ภัยการเมืองในออสเตรเลีย ซึ่งถูกทางการไทยจับกุมและกักตัวตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2561 ตามคำขอของทางการบาห์เรน

ทั้งนี้ ฮาคีมเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินราชการในระหว่างที่มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลบาห์เรนเมื่อปี 2554 แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมย้ำหลักฐานยืนยันว่าขณะเกิดเหตุเขากำลังแข่งขันฟุตบอลอยู่ จึงไม่มีทางเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง แต่พี่ชายของเขาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ทำให้เขาถูกจับกุมและกักตัว รวมถึงถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย จึงตัดสินใจหลบหนีไปยังออสเตรเลียเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง เพราะเกรงว่าถ้าอยู่ในบาห์เรนต่อไปอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและได้สิทธิพำนักอาศัยถาวรที่ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560 ทั้งยังได้ทำสัญญาเป็นนักเตะให้กับสโมสรฟุตบอลในออสเตรเลีย แต่ขณะที่เขาเดินทางมาไทยเพื่อท่องเที่ยวฮันนีมูนกับภรรยา กลับถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และถูกคุมตัวในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไทย (สตม.) สวนพลู ทำให้บุคลากรในแวดวงฟุตบอล รวมถึงนักสิทธิมนุษยชน และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก ร่วมเคลื่อนไหวกดดันให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีม พร้อมเรียกร้องไม่ให้ไทยส่งฮาคีมกลับบาห์เรน

อย่างไรก็ตาม ศาลไทยตัดสินขยายเวลากักตัวฮาคีมไปอีก 60 วันเมื่อ 11 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา