มาดูกันว่าเรื่อง 'ศาสนา' ที่ถูกบัญญัติจะมีเนื้อหาและความสำคัญอย่างไรในร่างรัฐธรรมนูญ
ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 31 กำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักของศาสนาตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งหลักการดังกล่าวนั้นถอดแบบมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่ในครั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเพิ่มไปด้วยว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐด้วย และ กรธ.ยังได้ตัดข้อความบางท่อนออก ได้แก่สิทธิเสรีภาพในการนับถือนิกายและลัทธินิยมที่แตกต่างกันของแต่ละศาสนา
แม้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเอาไว้ แต่มีกลุ่มพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน จี้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประเทศไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็ปัดข้อเสนอนี้ตกไป พร้อมทั้งกล่าวว่าการบัญญัติดังกล่าวอาจเป็นอันตรายในระยะยาว ดังนั้นจึงไม่มีการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในหมวดที่ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ในมาตรา 67 ได้บัญญัติให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ซึ่งบทบัญญัตินี้คล้ายคลึงกับฉบับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ ในวรรคต่อมากลับบัญญัติให้รัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน โดยเจาะจงให้เผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา
ก็เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมจะต้องส่งเสริมพุทธศาสนาโดยเฉพาะนิกายเถรวาทเท่านั้น? อาจเป็นเพราะพุทธศาสนิกชนในไทยกว่าร้อยละ 94 เป็นพุทธเป็นเถรวาท นอกจากนี้ในร่างรัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้รัฐจะต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าการบ่อนทำลายนั้นจะเป็นในรูปแบบใดด้วย