ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมาก 7 : 1 ให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ สิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. กรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง3 ก.ค.54 เนื่องจากอยู่ในเรือนจำ ด้าน กกต. ประพันธ์ ระบุจตุพรยังเป็นรัฐมนตรีได้ กม.ไม่ห้าม
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 วินิจฉัยให้นายจตุพร พรหมพันธุ์สิ้นสุดสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3) เนื่องจากขณะเลือกตั้งถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นข้อบัญญัติว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้นายจตุพรสิ้นสุดสมาชิกภาพของพรรคเพื่อไทย ส่งผลต่อเนื่องถึงสถานภาพการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย
ศิริวรรณ มาก่อเกียรติ ผู้สื่อข่าว Voice TVรายงานทาง Twitter (@LyNGinG) ว่าหลังคำตัดสิน นาย จตุพร มีท่าทีสงบ ยอมรับคำตัดสิน และกล่าวว่า คำวินิจฉัยไม่เกินความคาดหมาย โดยทำใจมาตั้งแต่ต้น และไม่ขอตำหนิศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต
ศาล รธน.มีมติ 7:1 ให้ "จตุพร" พ้นจากการเป็น ส.ส.
ที่มา:www.voicetv.co.th
"ที่ผ่านมาสู้กับความไม่ถูกต้องมาตลอด ข้อหาก่อการร้ายก็ถูกยัดเยียด ยันเป็น ส.ส.หรือคนธรรมดาก็เหมือนเดิม ยังเป็นแกนนำแดงต่อสู้ ปชต." นายจตุพร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่มารายล้อม
ลิซ่า หนุนอนันต์ ผู้สื่อข่าว Voice TV รายงานว่า ทนายของนายจตุพรเตรียมหารือเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายจตุพร ชั่วคราว เพื่อให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมปีที่แล้ว
ด้านนาย จตุพรเอง ระบุว่าจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม และจะยังจะร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกับกลุ่ม น.ป.ช โดยจะแถลงชี้แจงทำความเข้าใจกับมวลชนต่อไป ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะตอบว่าจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
นาย ประพันธ์ นัยโกวิท หนึ่งใน กกต. เผยว่า นาย จตุพร สามารถสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ทันที ไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และแซวต่อว่า สามารถเป็นเป็นรัฐมนตรีได้ กฎหมายไม่ได้ห้าม
ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 70 ของพรรคเพื่อไทย ที่จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน นายจตุพร คือ นาย สรรพภัญญู ศิริไปล์
นาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ที่ร่วมเป็นแกนนำกลุ่ม น.ป.ช. กับนาย จตุพร และเป็นเพื่อนร่วมพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า ได้ประเมินผลวินิจฉัยไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยในฐานะส่วนตัวยังนับถือนายจตุพร เหมือนพี่ชาย และคงไม่มีใครสามารถยุติบทบาทแกนนำคนเสื้อแดงของนายจตุพรได้
" ขอพี่น้องเสื้อแดงมีสติและอดทน หลังฟังคำวินิจฉัย แม้ต้องเจ็บปวด บอกอดีตก็เคยเจ็บปวดกว่านี้ และอนาคตอาจต้องเจ็บปวดอีก." รัฐมนตรีช่วยฯ และ แกนนำ น.ป.ช กล่าวฝากไปยังคนเสื้อแดงหลังมีคำวินิจฉัยกรณีนาย จตุพร
นายกฯขอดู "จตุพร" หลังศาลรธน. ให้พ้น ส.ส.
ที่มา:www.voicetv.co.th
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่าเรื่องนี้คงต้องไปปรึกษากับทีมกฎหมายของพรรคก่อน ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีจะขอดูความเหมาะสมและจังหวะเวลา ซึ่งได้มีการติดตามผลงานของคณะรัฐมนตรีมาตลอด ส่วนนายจตุพรมีความเหมาะสมในการนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่นั้นต้องขอดูรายละเอียดก่อนเช่นกัน แต่ส่วนตัวเห็นว่า นายจตุพรเป็นคนมีความตั้งใจ มีความสามารถ ซึ่งก็ต้องกลับไปดูว่าจะให้อยู่ในตำแหน่งไหน แต่ขณะนี้ยังบอกไม่ได้
ที่มา Blog / ใบตองแห้ง ตอน "แจกใบแดง กกต." 12 กรกฎาคม 2554 คลิกอ่านฉบับเต็ม
"มาตรา 100 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง"
เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
มาตรา 102 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
.........................
(3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 (1) (2) หรือ (4)
(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล"
ดูให้ดีนะครับว่า 2 มาตรานี้ต่างกันตรงไหน มาตรา 100 (3) ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จตุพรจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง (ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับการถูกตัดสิทธิในครั้งหน้า เพราะถือว่ามีเหตุจำเป็น ไม่เสียสิทธิ)
แต่มาตรา 102 (3) จตุพรกลับมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะ (3) ตัดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 100 (3) ออกไป แม้มี (4) "ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล"นั่นก็หมายความว่าต้องมีคำพิพากษาแล้วและถูกคุมขังอยู่ ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา ก็ไม่ได้
เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร คือป้องกันมิให้มีการกลั่นแกล้งกันระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้น แม้ผู้สมัครถูกจับกุมไม่ได้ประกันตัว ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาของศาล ก็ยังไม่ขาดคุณสมบัติ ต้องรอกระทั่งศาลตัดสิน แม้เป็นศาลชั้นต้นก็ตาม
แต่ประเด็นที่บุญยอด สุขถิ่นไทย (ซึ่งหลายๆ คนคงไม่สุขไปกับแกด้วย) เอามาร้อง เป็นอีกประเด็นหนึ่ง คืออ้างข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ว่าจตุพรขาดคุณสมบัติ เพราะพ้นจากสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทย ตามข้อบังคับที่ว่าถ้า "ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย"ก็ต้องพ้นจากสมาชิกภาพทันที
อันที่จริง ข้อบังคับนี้ไม่ได้มีเฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่มีทุกพรรค เพราะเป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ดันกำหนดว่า
"มาตรา 19 ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง....."
"มาตรา 8 ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปอาจรวมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้"
ทั้ง 2 มาตรานี้ถ้าตีความเป๊ะๆ ก็แปลว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ถ้าถูกจับกุมคุมขัง แล้วไม่ได้ประกัน คุณต้องพ้นจากสมาชิกภาพทันที ได้ประกันตัวออกมา แล้วค่อยสมัครเป็นสมาชิกพรรคกันใหม่
ถ้าตีความแบบนี้ จตุพรก็ขาดจากสมาชิกภาพตั้งแต่วันที่ถูกคุมขัง ซึ่งเป็นวันก่อนสมัครรับเลือกตั้ง เงื่อนเวลาตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าจตุพรสมัครรับเลือกตั้งก่อน แล้วจึงถูกคุมขัง มาตรา 102 จะคุ้มครองให้คงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
นายประพันธ์ นัยโกวิท คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ชี้แจงเหตุผลที่ กกต.รับรองให้นายจตุพรลงสมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่แรก ว่าเป็นเพราะนายจตุพรไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือก ตั้ง โดยในมาตรา102 ประกอบมาตรา100(3)ของรัฐธรรมนูญ ก็บัญญัติให้ผู้ถูกกุมขังโดยหมายศาลสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
กกต.แจงเหตุไม่ตัดสิทธิ์ "จตุพร" ตั้งแต่เลือกตั้ง
ที่มา:www.voicetv.co.th
ส่วนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้เป็นคนละประเด็นกัน โดยเป็นกรณีที่นายจตุพรไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจนเป็นเหตุให้ขาดจากการเป็น สมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลถือเป็นที่สุด และประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต่อไปขึ้นมาแทน ส่วนที่นายจตุพรบอกว่าจะไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยใหม่นั้นก็สามารถทำได้ ทันที เพราะไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง
Source : Voice News