ไม่พบผลการค้นหา
​การรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีผ่านไปแล้ว 5 วัน แต่การปราบปรามผู้ก่อ��บฏยังไม่ยุติ ตอนนี้ผู้ถูกจับกุมหรือไล่ออกด้วยข้อหานี้มีมากกว่า 45,000 คนแล้ว จนรัฐบาลตุรกีถูกกล่าวหาว่ากำลัง 'ล่าแม่มด' มากกว่าปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย

การรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีผ่านไปแล้ว 5 วัน แต่การปราบปรามผู้ก่อกบฏยังไม่ยุติ ตอนนี้ผู้ถูกจับกุมหรือไล่ออกด้วยข้อหานี้มีมากกว่า 45,000 คนแล้ว จนรัฐบาลตุรกีถูกกล่าวหาว่ากำลัง 'ล่าแม่มด' มากกว่าปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
     
แม้ว่าประชาชนทั่วโลกจะชื่นชมปรากฏการณ์ประชาชนต่อต้านการรัฐประหารในตุรกี แต่การรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับไม่ได้นำมาซึ่งความสงบและเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ควรจะเป็น สื่อตุรกีและทั่วโลกรายงานการกวาดล้างจับกุม ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารที่ล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อการสั่งปลดและจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐ เริ่มลุกลามไปถึงสถาบันที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารอย่างมหาวิทยาลัย
        
รัฐบาลตุรกีสั่งปลดบุคลากรทางการศึกษาล็อตใหญ่ ประกอบด้วยอาจารย์กว่า 15,000 คน อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 1,500 คน ขณะที่ข้าราชการกระทรวงสำคัญๆอย่างมหาดไทยและกระทรวงการคลังก็ถูกไล่ออกเป็นจำนวนมาก เมื่อนับรวมกับผู้พิพากษาที่ถูกสั่งพักงานกว่า 3,000 คน ตำรวจที่ถูกไล่ออกเกือบ 9,000 นาย และทหารที่ถูกจับอีกกว่า 6,000 นาย ทำให้จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างครั้งใหญ่หลังรัฐประหาร สูงถึงกว่า 45,000 คนแล้วภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์
        
จริงอยู่ที่การก่อรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีบทลงโทษรุนแรง และรัฐบาลจำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกีตอนนี้ ถูกตั้งข้อกังขาถึงความเป็นกลางและเป็นธรรม แม้จะมีการนำผู้ถูกจับกุมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่การขึ้นศาลภายในเวลาเพียงวันเดียวหลังบุคคลนั้นถูกจับ ย่อมทำให้คาดเดาได้ไม่ยากว่าศาลเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเท่านั้น ไม่สามารถให้ความยุติธรรมตามที่ควรจะเป็นได้ ที่สำคัญการขยายขอบเขตการกวาดล้างไปถึงข้าราชการพลเรือนและอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังฉวยโอกาสกำจัดผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ มากกว่าจะดำเนินคดีกับผู้ก่อกบฏจริงๆ
    
นายโมฮัมเหม็ด เฟธูลลาห์ ยูเลน อิหม่ามชาวตุรกีผู้ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 1999 และถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้ บอกว่าเครือข่ายผู้สนับสนุนเขาถูกรัฐบาลของนายเรเจบ ทายยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ตาม "ล่าแม่มด"มานานแล้ว จากการขุดคุ้ยการทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาล และความนิยมที่ประชาชนมีให้เขามากเกินไปจนรัฐบาลมองว่ายูเลนเป็นภัยคุกคาม ผู้สนับสนุนเขาถูกจับกุม ปิดกั้นการแสดงความเห็น และถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองมาโดยตลอด แต่การกวาดล้างหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เป็นการล่าแม่มดในระดับเข้มข้นรุนแรงกว่าเดิมอย่างมาก 
        
การล่าแม่มดที่กำลังดำเนินอยู่ในตุรกี ไม่ได้รอดพ้นจากสายตานานาชาติ สหประชาชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตุรกีอยู่ในหลักนิติรัฐนิติธรรม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะที่สหภาพยุโรปถึงกับเตือนว่าหากตุรกีจะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้กับนักโทษคดีรัฐประหารจริงตามที่ขู่ อาจมีผลถึงการพิจารณารับตุรกีเข้าอียู แต่แรงกดดันจากภายนอกเหล่านี้จะได้ผลหรือไม่ยังเป็นเรื่องน่าสงสัย เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้รัฐบาลตุรกีกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ต้องการให้โอกาสในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ที่มาพร้อมกับรัฐประหารที่ล้มเหลวครั้งนี้ "เสียของ" 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog