ผู้ต้องการซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีต้องศึกษาเงื่อนไขใหม่ หลังกฎหมายประกาศการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการถือครอง LTF จาก 5 ปีปฎิทินให้เป็น 7 ปีปฎิทิน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา มีประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 317 (2559) ในส่วน ข้อ1 ระบุว่า ให้ยกเลิกความใน (66) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
'(66) เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน ห้าแสนบาท สําหรับปีภาษีนั้น โดยเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นเงินได้ของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา
แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตายทั้งนี้ สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคมพ.ศ. 2562'
'(67) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคํานวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม (66) และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย'
การนับการถือหน่วยลงทุนในกองทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน คือ 5 ปี 2 วัน จากเดิม 5 ปีปฏิทิน คือ 3 ปี 2 วัน (การนับจากวันที่ซื้อสิ้นปีถึงขายต้นปีที่ครบกำหนด) ซึ่งเงื่อนไขใหม่ที่ประกาศตามกฎกระทรวงนี้ มีส่วนที่เปลี่ยนไปคือระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน แต่เงื่อนไขการซื้อยังคงเดิม ดังนี้ผู้ที่ต้องการซื้อ กองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีคงต้องทบทวนกันใหม่ เพราะระยะเวลาในการถือครองหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเหมาะกับผู้ที่มีเงินทุนที่หมุนเวียนไม่มีปัญหาด้านการเงิน และต้องการลงทุนระยะยาว
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา