นักวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบครั้งแรกในโลก ลิงแสมในไทยมีวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคหิน รู้จักใช้เครื่องมือศิลาในการหาอาหาร
ไมเคิล ฮัสลาม หัวหน้าโครงการโบราณคดีไพรเมท มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่า ลิงแสมฝูงหนึ่งบนเกาะเปียกน้ำใหญ่ อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง ใช้เครื่องมือหินทุบหอยและลูกไม้ ถือเป็นการเข้าสู่ยุคหินของลิง
นักวิจัยไม่รู้ว่า ลิงแสมบนเกาะรู้จักใช้เครื่องมือหินมานานเท่าใด อาจนานเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว นับแต่เกาะเปียกน้ำใหญ่แยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ในยุคน้ำแข็งรอบหลังสุด
ลิงแสมบนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้ใช้เครื่องมือหิน เนื่องจากพวกมันสามารถหาผลไม้และใบไม้กินได้อย่างหลากหลาย
ฮัสลามบอกว่า การที่สัตว์บนเกาะนอกชายฝั่งใช้เครื่องมือหินเช่นนี้ บ่งบอกว่า พวกมันติดค้างบนเกาะตอนที่น้ำทะเลสูงขึ้นในช่วงปลายของยุคน้ำแข็ง นับเป็นครั้งแรกที่นักโบราณคดีพบเครื่องมือหินที่พวกลิงแสมใช้กันเมื่อราว 50 ปีก่อน
“เราต้องการศึกษาเปรียบเทียบลิงในปัจจุบันกับมนุษย์สมัยใหม่นอกทวีปแอฟริกา” เขาบอก และว่า ลิงพวกนี้หาหอยกินเป็นอาหารตามแต่ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง เช่นเดียวกับที่มนุษย์ยุคแรกเริ่มเคยทำมาก่อน
การกินหอยยังอาจช่วยบำรุงสมองด้วย ในอาหารทะเลมีสารอาหารหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง
นักวิจัยกำลังปะติดปะต่อข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลิงในอดีตโดยอาศัยการศึกษาเครื่องมือหินของพวกมัน ทีมวิจัยหวังว่าจะพบเครื่องมือหินที่มีอายุเก่าแก่กว่านี้ ทั้งของลิงฝูงนี้และลิงในที่อื่นๆที่รู้จักใช้เครื่องมือหินแบบเดียวกัน
ข่าวแจ้งว่า งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ใน Journal of Human Evolution มีทีมนักวิจัยไทยร่วมงานด้วย นำโดยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ หัวหน้าหน่วยวิจัยไพรเมท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Source: BBC Earth
Video: YouTube/University of Oxford