ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวกัมพูชา แห่แชร์ภาพพร้อมข้อความ ระบุ 'การแสดงโขนเป็นของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย'

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวกัมพูชา แห่แชร์ภาพพร้อมข้อความ ระบุ 'การแสดงโขนเป็นของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย'

เกิดกระแสในโลกออนไลน์ของชาวกัมพูชา เมื่อมีการแชร์ภาพพร้อมข้อความต่อกันในอินเทอร์เน็ต ที่ระบุว่า 'การแสดงโขนเป็นของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย'เฟซบุ๊กเพจ I Love Khmer True Story โดยมีการส่งต่อกันมากกว่า 1,000 ครั้ง ซึ่งกระแสนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม เตรียมส่งชื่อของ 'โขน' เข้าสู่บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก 

 

 

เฟซบุ๊กเพจ Troll Football ของกัมพูชา ที่ได้ลงข้อความภาษาเขมร พร้อมภาษาอังกฤษ ที่ระบุว่า 
"ละครโขนเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา 100 เปอร์เซ็นต์ มันคือมรดกที่ส่งมาจากบรรพุรุษเขมรของเรา ที่มีมาก่อนสยามจะถือกำเนิดเสียอีก (ไทย) และเก่าแก่ประเทศที่เรียกว่าไทย แม้ว่าพวกเราจะสูญเสียเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแสดงนี้ไปในยุคสงครามทั้งในและนอกประเทศ แต่มันก็ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อของระบำพื้นเมืองกัมพูชาเขมร เราไม่เห็นด้วย และจะไม่ยอมให้ไทยนำระบำพื้นเมืองของกัมพูชา ไปขึ้นทะเบียนกับทางยูเนสโก ว่ามันเป็นของพวกเขา กรุณาแสดงความรับผิดชอบ และพิจารณากรณีนี้ใหม่อีกครั้ง เราจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม ว่าโขน เป็นของเขมร/ กัมพูชา" 

ทีมข่าว Voice TV ได้พูดคุยสอบถามกับ 'ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ' นักโบราณคดี/ นักเขียนอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศิริพจน์ระบุว่า กรณีการอ้างสิทธิ์ครอบครองเหนือการแสดงโขน หรือวัฒนธรรมไทย - กัมพูชา เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่หากจะว่ากันตามหลักฐานที่ปรากฏก็ต้องยอมรับว่า หลักฐานของทางฝ่ายกัมพูชาเขาเก่ากว่า เพราะหัวโขนก็ไปเอารูปแบบมาจากภาพสลักต่างๆ ในปราสาทหินนั่นเอง

"ในแง่ของภาษา คำว่าโขน ก็มาจากคำว่า 'ละโคน' ของเขมร แล้วจึงแยกมาเป็นคำว่า โขน กับ ละคร ในภาษาไทย แต่หากจะให้นับยาวกว่านั้น คำว่าละโคนของเขมร ก็รับมาจากคำว่า เลกอง (Legong) ของชวาตะวันออกอีกที ซึ่งตรงนี้" 

"ตัวอย่างหลักฐานที่ง่ายที่สุด คือหากเราดูทศกัณฑ์ของอินเดีย ที่มี 10 หน้า จะเห็นว่าหน้านั้นขยายออกมาด้านข้าง แต่หัวโขนทศกัณฑ์ของไทย หน้าที่ขยายออกมาจะต่อกันขึ้นไปด้านบนแทน ซึ่งนั่นคือลักษณะของรูปสลักเขมร ที่พบได้ตามปราสาทขอม" 

"แต่จริงๆผมว่ามันเชยไปแล้วที่จะมาอ้างว่าอะไรเป็นของใคร ในเมื่อไม่สามารถชี้ชัดเองได้ทำไมจึงไม่ทำให้เป็นวัฒนธรรมร่วม แล้วเสนอชื่อกับยูเนสโกไปพร้อมกันเสียเลย" นักโบราณคดีหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย 

ด้าน สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. 2536 ได้กล่าวถึง "โขน" ในงานสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย 2556 เมื่อวันที่ 6 เมษายน ว่า "โขน" เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ พร้อมสรุปคำอธิบายใหม่ตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งที่พบในไทยและในภูมิภาคอุษาคเนย์ ตามที่สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้สรุปเรื่องนี้ไว้าว่า โขนเป็นการละเล่นเรื่องรามยณะในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ แรกมีเก่าสุดในราชสำนักของกัมพูชา ที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) เมืองเสียมเรียบ ต่อมาราชสำนักของกัมพูชาส่งแบบแผนการละเล่นรามยณะให้ราชสำนักอโยธยา ซึ่งอยู่ก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา จนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ที่ได้สืบทอดการเล่นรามยณะแบบขอมไว้ แต่ปรับเปลี่ยนวิธีเรียกด้วยคำใหม่ว่า รามเกียรติ์ 

โขน มาจากไหน? สุจิตต์ วงษ์เทศ 1/2

โขน มาจากไหน? สุจิตต์ วงษ์เทศ 2/2

นอกจากนี้ยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวกัมพูชาอีกหลายคน ถือป้ายพร้อมข้อความที่ระบุว่า 'โขนเป็นศิลปวัฒนธรรมของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย' อีกจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังไม่ได้ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog