เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความเสี่ยงให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ แต่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้านครหลวง เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหานี้ เพราะมีอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นระบบจ่ายไฟหลักที่รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน สถานีชิดลม อยู่ภายในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานใหญ่ ซึ่งจ่ายไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2552 ภายในอุโมงค์มีสายไฟฟ้าแรงดันสูง 230,000 โวลต์ เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีชิดลมไปจนถึงสถานีบางกะปิ รวมระยะทางทั้งหมด 7 กิโลเมตร
สายส่งไฟฟ้า อยู่ลึกกว่าระดับพื้นดินถึง 30 เมตร ลอดใต้แนวทางคลองแสนแสบ อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพหานคร ประกอบกับอุโมงค์มีความต้านทานแผ่นดินไหว ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและหมดกังวลผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
กฟน.ยังมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินได้เพื่อแก้ไขปัญหาได้ในระยะเวลาอันสั้น
การดำเนินการดังกล่าวเพื่อรองรับและสร้างความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณความต้องการพลังไฟฟ้าในเขตพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดค่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค อยู่ที่ 9,296.57 เมกะวัตต์ เวลา 13.30-14.00 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา สูงกว่าพีคปีก่อน (58) ร้อยละ 6.17
ปัจจุบัน กฟน.มีอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน 2 แห่ง ได้แก่ เส้นทางลาดพร้าว-วิภาวดี และบางกะปิ-ชิดลม เปิดดำเนินการแล้วทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงระบบส่งไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นการนำสายส่งไฟฟ้าแรงสูงลงใต้ดิน ซึ่งจะมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ มากกว่าอยู่บนอากาศ ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น