ไม่พบผลการค้นหา
"สุภาพ เกิดแสง"อ.มหา′ลัยดังเปิดหมดเปลือกคดีถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์สหรัฐ18ล. "ถ้าผมผิดทั้งโลกสะเทือน"

"สุภาพ เกิดแสง"อ.มหา′ลัยดังเปิดหมดเปลือกคดีถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์สหรัฐ18ล. "ถ้าผมผิดทั้งโลกสะเทือน"

 

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ตีข่าวว่าสำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ถึงคดีที่สำนักพิมพ์ จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซัน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องนายสุภาพ เกิดแสง นักศึกษาไทยปริญญาโททางด้านศึกษาคณิตศาสตร์อยู่ในมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น แคลิฟอร์ เนีย (ยูเอสซี) ว่า นายสุภาพละเมิดลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ด้วยการซื้อหนังสือตำรา 8 เล่มที่จัดพิมพ์จำหน่ายในต่างประเทศ (อินเตอร์เนชั่นแนล เอดิชั่น) แล้วนำมาขายต่อผ่านเว็บประมูลออนไลน์อีเบย์(e-Bay)ให้กับผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา ทำให้สำนักพิมพ์ได้รับความเสียหาย


และคณะลูกขุนได้ขอให้จ่ายค่าเสียหายให้กับสำนักพิมพ์เป็นเงิน 600,000 ดอลลาร์ หรือราว 18 ล้านบาท จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาและศาลสูงสุดมีมติเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา รับพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าว โดยจะเริ่มไต่สวนคดีนี้ในราวปลายปีนี้นั้น



ทาง"มติชนออนไลน์"จึงได้ตามหา"สุภาพ เกิดแสง"เพื่อขอความกระจ่างของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น และพบว่าปัจจุบันได้เรียนจบปริญญาเอก ทางด้านคณิตศาสตร์ และกลับจากสหรัฐอเมริกามาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อยู่ที่มหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งได้ปีกว่าแล้ว  โดยอาจารย์สุภาพ อายุ 32 ปี ได้เปิดใจอย่างหมดเปลือกต่อกรณีดังกล่าวว่า

 
@ต่อสู้คดีมายาวนานเพียงใด   

คดีเกิดตอนใกล้จบปริญญาเอก สาเหตุที่จบช้า เพราะอยากอยู่สู้คดีในศาลชั้นต้นให้จบ ต้องอยู่ที่นั่นเพื่อไปให้การ บางคนคิดว่า ผมหนีคดีกลับมา ซึ่งมันไม่ใช่ ที่กลับมาเพราะว่า ไม่มีภาระเรื่องคดีแล้ว ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามีแต่ทนายเท่านั้นที่ไป เราไม่ต้องไป ผมสู้ความมาประมาณ 2 ปีแล้ว



@หนังสือที่นำไปขายเป็นหนังสือที่พิมพ์ในประเทศใด

เป็นเป็นหนังสือที่พิมพ์โดยบริษัทลูกของสำนักพิมพ์ จอห์น ไวลี่ย์ แอนด์ ซันที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์  ผมต่อมาจากผู้จัดจำหน่ายของสำนักพิมพ์อีกทอด


@เราขายถูกกว่าที่สำนักพิมพ์ขายมากน้อยเพียงใด

ประมาณ 50% เราไม่ได้เอากำไรมากมาย หนังสือที่พิมพ์ใหม่ของอเมริกาตกเล่มละประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หนังสืออย่างเดียวกันที่พิมพ์ในสิงคโปร์ที่ผมนำไปขายราคาประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

@ธุรกิจขายหนังสืออย่างที่คุณสุภาพทำใน eBayก็มีคนอื่นทำกันอยู่แล้ว

มีอยู่แล้ว ในแง่มุมของกฎหมาย ถ้าบอกว่าผมผิด มันไม่ได้ครอบคลุมเพียงหนังสือ แต่จะครอบคลุมถึงการขายสินค้าตัวอื่นต้องโดนไปด้วย  ของมือสองจะขายไม่ได้ทั้งหมดเลย สำหรับข้อกฎหมายที่เขากำลังจะพยายามบังคับให้มันเป็น

 

@ช่วยเล่าถึงขั้นตอนการต่อสู้ทางกฎหมายที่ผ่านมา

ในชั้นศาลชั้นต้น ผมพยายามสู้คดี โดยใช้ข้อกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา 2 ข้อหลักที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้  โดยเนื้อหาของข้อกฎหมายระบุว่า ผมสามารถขายสินค้าหรือหนังสือดังกล่าวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  โดยกฎหมายข้อแรกระบุว่า 1)เจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิ์ขาดในการจัดจำหน่ายแจกจ่ายไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม อาจจะเป็นเช่าหรือขายหรืออะไรก็ตาม นี่คือ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ขาด

หมายความว่า ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ขายของชิ้นนั้นไปแล้ว คนที่ซื้อมาจะไปขายต่ออย่างไรก็ได้ ซึ่งข้อกฎหมายนี้ เราพยายามจะใช้ แต่ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้ใช้

 

2) ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ขายของชิ้นนั้น ๆ ไปแล้ว คนที่ซื้อไปแล้วจะนำไปขายต่ออย่างไรก็ได้ กฎหมายตัวนี้ เรียกว่า "First sale doctrine" คือ กฎของการขายครั้งแรก ถ้ามีการขายครั้งแรกแล้ว หลักการคือ เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับเงินจากตรงนั้นแล้ว ดังนั้น จะมาเอาสิทธิ์จากการขายครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ไม่ได้  ข้อกฎหมายที่ระบุชัด คือ สิ่งที่ทุกคนอยากทราบว่า ศาลสูงจะว่า อย่างไร  

 

@ในเมื่อกฎหมายระบุชัดเจน แต่ทำไมศาลชั้นต้นมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้หยิบยกกฎหมายลิขสิทธิ์ข้อนี้มาใช้ ศาลสามารถทำอย่างนั้นได้ด้วยหรือ

ในศาลชั้นต้นของผมตัดสินโดยลูกขุน ซึ่งเป็นชาวบ้านทั่วไป ในคดีนี้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของเรา ห้ามไม่ให้เราใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ข้อที่สอง เพราะเคยมีคดีที่เขาอุทธรณ์กัน ทางศาลอุทธรณ์ไม่ยอมให้ใช้ข้อที่สอง ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า ข้อที่สองใช้ไม่ได้

 

@โดยมีเหตุผลอะไรชี้แจงหรือไม่ที่ไม่ให้เราหยิบยกกฎหมายข้อที่สองมาใช้

มี อันนี้เป็นสิ่งที่ก่ำกึ่งมากว่า จะตัดสิน หมายความว่าอย่างไร คือ ในตัวกฎหมายข้อที่สอง ระบุว่า "สิ่งที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา" ที่นี่ถ้าอ่านจากตัวกฎหมายตามคำเลย จะไม่มีใครตีความตามสำนักพิมพ์จะบังคับให้ทุกคนพยายามตีความอย่างนั้น ซึ่งตรงนี้หากใครสนใจไปค้นหาดูได้ว่า คำว่า  "First sale doctrine"หมายความว่าอย่างไร

 

เขาไปตีความว่า สิ่งที่ผลิตถูกต้อง ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา คือ สิ่งที่ผลิตภายในประเทศอเมริกา ซึ่งขัดกับความเป็นจริง สิ่งที่ผมคิดว่า เป็นการตีความที่ถูกต้องก็คือ สิ่งที่ผลิตโดยผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะผลิตที่ประเทศไหนก็ตาม ถ้าผลิตโดยผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของสหรัฐ อเมริกา สิ่งนั้นควรจะถือเป็นสิ่งที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย ยกตัวอย่าง เช่นของชิ้นหนึ่ง มีคนเคยจดทะเบียนลิขสิทธิ์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะขายลิขสิทธิ์ให้ที่อเมริกาอันหนึ่ง ที่อังกฤษอันหนึ่ง

 

คนที่มีลิขสิทธิ์ที่อังกฤษไม่ว่าจะผลิตที่ไหนก็ตาม อันนั้นไม่ได้ถือว่าผลิตถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา แต่คนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะไปตีพิมพ์ที่ไหนก็ถือว่า ถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา

 

@ซึ่งบริษัท ในสิงคโปร์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาเป็นบริษัทลูกแท้ ๆ ของสำนักพิมพ์จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซัน

ใช่ครับ


@ตกลงในศาลชั้นต้นจบอย่างไร

ศาลชั้นต้นตัดสินให้ผมแพ้ เพราะคณะลูกขุนทราบ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ข้อแรกที่ผมบอก ลูกขุนไม่ทราบข้อที่สอง ดังนั้น ไม่มีอะไรที่ทำให้ลูกขุนมองได้ว่า ผมถูก โดยผู้พิพากษาสั่งห้ามบอกกฎหมายข้อที่สองแก่ลูกขุน เพราะผู้พิพากษาตัดสินแล้วว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ข้อที่สองห้ามใช้ คล้ายผู้พิพากษาถูกบังคับ โดยการอุทธรณ์ของคดีอื่น ผู้พิพากษาต้องตัดสินให้เหมือน ๆ กัน เหมือนเป็นการบังคับเมื่อลูกขุนทราบเพียงข้อเดียว ก็คิดว่า อย่างนี้ผิดเต็มประตู ผิดแท้ ๆ ยังมาดื้อด้านสู้คดีอยู่ได้ ตัวลูกขุนเป็นคนบอกเองว่า จะเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่ โดยลูกขุนเป็นชาวบ้านธรรมดา โดยตัดสินเรียกค่าชดเชยที่ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่การขายไม่ได้มีกำไรใกล้เคียง 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ กำไรเพียงเศษเสี้ยวของเงิน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

@ การเรียกชดใช้ค่าเสียหายการละเมิดลิขสิทธิ์จะเรียกได้กี่เท่าของความเสียหาย

ผมถูกฟ้องว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ 8 เล่ม แต่ว่า ในตัวกฎหมายลิขสิทธิ์อนุญาตให้ปรับได้สูงสุด 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้ามีกรณีที่ว่า แย่มาก ๆ คือ รู้ว่า ผิดก็ยังทำ ถึงขั้นอาญาแบบนั้น แต่ว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯถือว่ามากที่สุดแล้วในการเรียกค่าเสียหายของหนังสือแต่ละเล่มเท่ากับ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คูณหนังสือ 8 เล่ม เท่ากับ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯพอดี

 

@พอจบจากศาลชั้นต้นไปศาลอุทธรณ์คดีเป็นอย่างไรต่อ

คดีของผมพอขึ้นไปถึงศาลอุทธรณ์ คดีไม่ได้ตัดสินโดยลูกขุนที่เป็นชาวบ้านแล้ว แต่ตัดสินโดยผู้พิพากษา 3 คน ซึ่งทราบกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้ง 2 ข้อ โดยผลการตัดสิน ผู้พิพากษา 2 คนให้ทางสำนักพิมพ์ชนะ แต่มีผู้พิพากษา 1 คนให้ผมชนะ และเขียนเหตุผลมาเลยว่า ทำไมผมถึงสมควรชนะ กฎหมายน่าจะตัดสินให้ผมชนะ ทั้งนี้ สำหรับผู้พิพาก ษา 2 คนที่ตัดสินให้ทางสำนักพิมพ์ชนะ แต่เขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เขาตีความ สภาคองเกรสถูกต้องหรือเปล่า ในการตีความอย่างนี้ ถ้าเขาตีความผิดก็ให้สภาคองเกรสมาปรับความเข้าใจ คือ เขาก็ไม่แน่ใจว่า เขาตัดสินถูกต้องหรือเปล่า

 

@เหตุผลของผู้พิพากษา 1 คนที่ตัดสินให้คุณสุภาพชนะระบุชัดเจนอย่างไร

เขาตีความคล้ายกับเรา คือ ถ้าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อเมริกา ไม่ว่าผลิตที่ไหนก็ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ แล้วเขาก็มองไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าตัดสินให้เราแพ้ นอกจากจะไม่ตรงกับสิ่งที่กฎหมายได้พูดไว้แล้ว มันจะเกิดเหตุการณ์ที่แย่มาก ๆ ก็คือว่า การขายของมือสองเป็นไปไม่ได้เลย เช่น ถ้าบริษัท แอปเบิ้ล ที่ผลิตไอแพดที่ประเทศจีนเป็นของลิขสิทธิ์  แล้วนำไอแพดกลับมาขายในอเมริกา ไม่ว่าจะขายไปกี่ครั้งกี่ครั้ง เขาห้ามคนขายเป็นครั้งที่สองได้ เพราะไอแพดชิ้นนั้นผลิตนอกประเทศอเมริกา ไม่สามารถใช้ "First sale doctrine" ได้ มีกฎหมายข้อเดียวที่จะใช้คือว่า เขามี "complete contro over distribution" ยิ่งไปกว่านั้น ห้องสมุดก็ให้ยืมหนังสือไม่ได้ เพราะหนังสือไปผลิตนอกประเทศอเมริกา



 ถ้าคนอเมริกันไปซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ จะให้เป็นของฝากใครก็ไม่ได้ เพราะการให้เป็นของฝากถือเป็น "distribution"ก็จะละเมิดลิขสิทธิ์สหรัฐฯ

 

@ถ้ายึดตามกฎหมายข้อแรก

ในกรณีถ้าเขาจะไม่ให้ใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ข้อที่สองเลย ศาลสูงของสหรัฐเคยตัดสินเป็นคดีคล้าย ๆ กันเมื่อปี 2553 มีการไปผลิตนาฬิกาโอเมก้านอกประเทศอเมริกา แล้วบริษัท คอสโค ซื้อเข้ามาขายในอเมริกา ทำให้บริษัท โอเมก้า เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัท คอสโค ซึ่งคดีนี้ศาลสูงของสหรัฐฯ มีมติออกมาเป็น 4:4 แต่ผลออกมาอย่างนี้ถือว่าบริษัท คอสโค ซึ่งเป็นจำเลยเหมือนผม แพ้ในชั้นอุทธรณ์

 

@การต่อสู้ในศาลสูงจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะไต่สวนปลายปีเลยหรือ

ศาลสูงเปิดเป็นเทอม ซึ่งจะเริ่มเปิดช่วงเดือนตุลาคมอาจจะถึงกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ผมจำไม่ได้ชัดเจน พอศาลสูงจะเริ่มพิจารณาคดีในเทอมไหน ก็จะพยายามจบในเทอมนั้น เพราะฉะนั้นคำตัดสินจะทราบผลในต้นปี 2556

 

@ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจนถึงวันนี้เปิดเผยได้หรือไม่ว่าเท่าไหร่

ผมมีทนายความที่ว่าจ้างมาช่วยทำคดีในศาลชั้นต้นคือ แซม อิสราเอล ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทั้งหมด 6 ล้านบาท และให้เขาสู้ความในชั้นอุทธรณ์ให้ด้วย ซึ่งในชั้นอุทธรณ์ผมจ่ายไป 6 ล้านบาทแล้วก็รู้สึกว่า คงจะไม่ไหวแล้ว เพราะเราก็มีเงินจำกัด ทนายความก็ยอมลดเงินค่าจ้าง เพราะคดีนี้เขาเห็นว่า มันไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง เขาก็อาสาต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ในราคาที่ถูกลงได้ พอผมต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์แพ้ ผมก็หมดไม่มีเงินแล้ว เขาก็อาสาว่า ต่อไปเราไม่ต้องจ่ายเงินแล้ว เขาจะหาคนมาสู้ต่อให้ในศาลสูง จึงได้ทนายที่ชื่อ โจซัว โรเซนครานซ์มาช่วย ซึ่งผมไม่ได้จ่ายเงินให้เขาสักบาทในการสู้คดีนี้ เขาเป็นทนายความชื่อดังของสหรัฐ ที่มีความสนใจในคดีนี้เป็นพิเศษ

 

@เรามั่นใจเพียงใดว่าเขาจะสามารถต่อสู้ให้เราชนะคดี

ผมไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แต่ดูจากประวัติของทนาย ผมค่อนข้างมั่นใจในฝีมือ เพราะเขาเป็นทนายที่เพิ่งได้รับรางวัลทนายดีเด่นของสหรัฐอเมริกาในปี 2554 ไม่ใช่ทนายธรรมดาที่อาสาจะสู้ความให้เราฟรี ๆ โดยไม่ได้รับเงินจากบริษัทใด ๆ ทั้งสิ้น

 

@คดีนี้ไม่ว่าจะตัดสินออกมาอย่างไรต่อไปจะถือเป็นบรรทัดฐานของการขายของลิขสิทธิ์เลย  ถ้าศาลสูงตัดสินให้ผิดต่อไปการขายลักษณะนี้ก็ผิดกันหมด


ใช่ คดีนี้จะมีผลอย่างมากกับธุรกิจมือสองทั้งหลายขึ้นอยู่กับว่า ขายลิขสิทธิ์ให้ใคร แม้แต่การนำสินค้าลิขิสทธิ์ไปผลิตในต่างประเทศ โดยอาศัยค่าแรงงานที่ถูก แล้วจะนำกลับเข้ามาขายในสหรัฐฯ มันจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯย้ายการผลิตออกมานอกสหรัฐฯ ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาคองเกรสไม่ต้องการแน่นอน

 

Source : matichon

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog