การคืนทรัพย์สินของ ปตท.ให้กับกระทรวงการคลัง ดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 แต่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นคัดค้านจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า ปตท.ยังดำเนินการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน เราจะไปย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์นี้
จุดเริ่มต้นมหากาพย์ท่อก๊าซฯ ปตท. เริ่มจากการยื่นฟ้องของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคต่อศาลปกครองสูงสุด ในปี 2549 ขอให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. ที่สุดแล้ว ปลายปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ไม่เพิกถอนการแปรรูป แต่ขอให้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ออกจาก ปตท.
ส่วนที่เป็นสาธารณสมบัตินั้น คือทรัพย์ที่ ปตท.ได้ด้วยอำนาจมหาชนของรัฐ ในฐานะการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนวันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องโอนไปเป็นของกระทรวงการคลัง ส่วนทรัพย์สินที่ได้มาโดยวิธีอื่นซึ่งไม่ใช่การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ไม่ต้องคืนให้กระทรวงการคลัง
ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลัง , กระทรวงพลังงาน ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามหลักการดังกล่าวโดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 รับรองว่า ปตท. โอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว
แต่ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหว โดยหลักจากฝั่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เห็นว่า ปตท. ยังแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ครบถ้วน แม้ศาลฯ จะยกคำร้องแล้วถึง 5 ครั้ง รวมถึงมีหนังสือตอบกลับถึง สตง. ยืนยันการดำเนินงานที่เรียบร้อยของ ปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ก็ตาม
ประธานกรรมการ ปตท. ระบุ ปตท.ถูกร้องเรียนในเรื่องนี้หลายครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับการแปรรูป ปตท. แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา ถือเป็นที่สุดแล้วก็ควรยอมรับ และ ปตท.เองไม่สามารถคืนทรัพย์สินเกินกว่าที่ศาลกำหนดได้
หากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดไม่อาจถือเป็นที่สิ้นสุดได้ เราอาจยังเห็นการทวงคืนท่อก๊าซจาก ปตท. บริษัทมหาชนที่มีรัฐถือหุ้นผ่านกระทรวงการคลังถึงร้อยละ 51 และกองทุนรวมวายุภักดิ์ ประมาณร้อยละ 14 ไปอีกนาน