การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งพลังของชุมชนมีความสำคัญอย่างไร
นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ตั้งอยู่บนพื้นที่เกือบ 700 ไร่ มีผู้ประกอบกิจการ จำนวน 93 ราย ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมา คือ เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการลงทุน เกือบ 2 หมื่นล้านบาท มีจำนวนแรงงานกว่า 1 หมื่น 3 พันคน ที่นี่เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดไม่ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับที่อื่น แต่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ เติบโตมาพร้อมกับชุมชน ในเขตคันนายาว และมีนบุรี บนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร
จุดแข็งที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมบางชันสามารถเติบโต อยู่คู่กับชุมชนรอบข้างกว่า 5 แห่งได้ โดยไม่มีข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม เพราะที่นี่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชน ให้เข้ามาเห็นกระบวนการผลิตของโรงงานต่างๆ ในนิคมฯ และมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่างๆ อันมีผลต่อสภาพแวดล้อมของชุมชนรอบนิคมฯ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน มองว่า การมีส่วนร่วมของภาคชุมชน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่ได้
และเพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ก้าวเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในปีนี้ได้สำเร็จ จึงต้องมีการวางกรอบแนวทางการดำเนินการ โดยการทำงานจะเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำกับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ หรือ โครงการธงขาวดาวเขียว ที่ให้ตัวแทนประชาชนจากชุมชนแต่ละแห่ง เข้ามารับฟังการดำเนินงานของโรงงาน ทั้งกระบวนการผลิต การปล่อยของเสีย และวิธีการในการจัดเก็บและกำจัดของเสีย
ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจ ด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการควบคุมมลภาวะ ซึ่งผู้นำชุมชนบางชันพัฒนา มองว่า แนวโน้มปัญหามลภาวะในนิคมอุตสาหกรรมบางชันลดลงเรื่อยๆ ภายหลังเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา จนสามารถกำจัดมลภาวะ ได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ชุมชนสามารถอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรมได้
นอกจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ได้วางแผนโครงการต่างๆ อาทิ การส่งเสริมให้มีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การทำคาร์บอน ฟู้ดปริ้นท์ เพื่อวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิต ของแต่ละโรงงาน การปรับปรุงน้ำผิวดินชุมชนรามอินทราเนรมิต การติดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้วยระบบกล้องวงจรปิด รวมทั้งโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ และผู้นำชุมชน
นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชุน ที่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก รวมทั้งช่วยผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมบางชัน พัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศในปีนี้ได้อย่างเข้มแข็งอีกด้วย
Produced by VoiceTV