Daily Graphic ประจำวันที่ 7 เมษายน 2559
หลังจากที่มีข่าวการซ้อมทรมานจนกระทั่งเสียชีวิตของพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ส่วนเพื่อนนั้นมีอาการบาดเจ็บและยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ทางวอยซ์ทีวีจึงจัดทำรายงาน ความจำเป็นที่รัฐต้องมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากการซ้อมทรมานและปรากฎเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มีรายชื่อดังที่ปรากฎนี้ นี่ยังไม่ได้นับย้อนหลังไปอีก ตั้งแต่ปี 2557 ถึง ปี 2558 ที่มีการซ้อมทรมานถึง 54 กรณี ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเผยว่าคำร้องซ้อมทรมานมีถึง 134 คำร้อง
จากรายงานปากคำผู้ถูกควบคุม "ผมถูกซ้อมในค่ายทหาร" โดยประชาไท บทความเปิดประสบการณ์ความรุนแรงในค่ายทหารโดยมติชน และบทความเปิดเรื่องสยอง ชีวิตทหารเกณฑ์ โดยวอยซ์ ทีวี เผยให้เห็นว่าทหารที่ถูกซ้อมทรมาน ได้รับการลงโทษเกินกว่าที่มนุษย์จะทนทานได้
จากพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร ปี 2476 นั้น ระบุว่า เมื่อทหารผิดวินัย จะได้รับบทลงโทษ ตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม การกักตัว การขัง และการจำขัง โดยไปฝากไว้ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
ไม่มีบทลงโทษใดให้ซ้อมทรมานจนถึงแก่ชีวิต
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เตรียมเสนอร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งมีข้อดีคือในการช่วยคุ้มครองเหยื่อที่ถูกอุ้มหายและซ้อมทรมาน ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสมากขึ้น
ไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีตามกฎบัตรสหประชาชาติ การเป็นภาคีดังกล่าวจะไร้ประโยชน์หากไทยไม่ออกกฎหมายลูกให้มีสภาพบังคับใช้ ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาล คสช. หากผ่านกฎหมายการปราบปรามการทรมานฯ ได้ จะยิ่งเป็นการพิสูจน์ตัวเองให้เห็นความโปร่งใส และหากปรับระบบลงโทษผู้มีสิทธิสั่งทำโทษผู้อื่นให้เด็ดขาดกว่านี้ อัตราการซ้อมทรมานจนถึงแก่ชีวิตอาจจะมีแนวโน้มลดลง