ไม่พบผลการค้นหา
การแข่งขัน "โกะ" ระหว่างแชมป์โลกชาวเกาหลีใต้ กับ ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก มนุษย์แพ้ปัญญาประดิษฐ์เป็นครั้งแรก แต่เพราะอะไรการพ่ายแพ้รอบนี้จึงสำคัญกว่าการแพ้เกมกระดานอื่นๆ

การแข่งขัน "โกะ" ระหว่างแชมป์โลกชาวเกาหลีใต้ กับ ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก มนุษย์แพ้ปัญญาประดิษฐ์เป็นครั้งแรก แต่เพราะอะไรการพ่ายแพ้รอบนี้จึงสำคัญกว่าการแพ้เกมกระดานอื่นๆ 

หมากล้อม หรือโกะ 5 เกมระหว่างนายลีเซดอล แชมป์โลกโกะชาวเกาหลีใต้ และอัลฟาโกะ ปัญญาประดิษฐ์จากโครงการดีพมายด์ของกูเกิล ถือเป็นการแข่งขันนัดสำคัญที่นักเล่นโกะ และเหล่ากีคเทคโนโลยีทั่วโลกจับตามอง และเมื่อมนุษย์พ่ายแพ้ให้แก่คอมพิวเตอร์ครั้งแรก ก็ทำให้เหล่านักเล่นโกะผิดหวังอย่างมาก จนหลายคนถึงกับบอกว่า นี่เป็นความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติเลยทีเดียว

แม้หลายคนจะข้องใจว่า ทำไมความพ่ายแพ้นี้จึงเป็นเรื่องใหญ่นัก ในเมื่อคอมพิวเตอร์ก็สามารถเอาชนะมนุษย์ในเกมกระดานอื่นๆมากได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมากฮอส หมากรุก เกมเศรษฐีโมโนโพลี แต่เกมเหล่านั้นยังไม่ซับซ้อนเท่าโกะ จึงสามารถใช้วิธีการ Brute Force Algorithm หรือการไล่เรียงความน่าจะเป็นทั้งหมดในการเดินเกม ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานเท่านั้น ระบบก็จะมองเกมทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ต้นจนจบเกม

สำหรับโกะ ที่มีเส้นแนวขวาง 19 เส้นและแนวนอน 19 เส้นนี้ ทำให้ความน่าจะเป็นในการเดินเกมมีเป็นล้านๆกรณี ซึ่งมากเกินไปสำหรับการใช้ Brute Force Algorithm ในการคำนวณการเดินเกมตั้งแต่ต้นจนจบเกมได้เหมือนเกมอื่นๆ ดังนั้น ทีมนักพัฒนาจึงใช้ระบบ 2 เครือข่ายในการพัฒนาอัลฟาโกะขึ้นมา ได้แก่ เครือข่ายนโยบาย และเครือข่ายการประเมินผล

เครือข่ายนโยบายจะเป็นตัวคำนวณว่า ความน่าจะเป็นในการวางหมาก ขณะที่เครือข่ายประเมินผลจะทบทวนและประเมินผลว่า วางหมากนั้นไปแล้วผลออกมาน่าพึงพอใจหรือไม่ ดังนั้น หลังจากการเล่นเกมโกะไปเป็นล้านๆเกม อัลฟาโกะจึงสามารถเรียนรู้การวางแผนในโกะได้รัดกุมขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการนี้ทำให้อัลฟาโกะตระหนักว่าควรวางแผนล่วงหน้าไปประมาณ 20 ตาเท่านั้น แทนที่จะวางแผนยาวไปเป็นร้อยตาจนกว่าจะจบ แบบที่เป็นใน Brute Force Algorithm ซึ่งกระบวนการคิดคำนวณแบบนี้ เกือบจะเหมือนกับการคิดโดยสมองมนุษย์

ที่สำคัญคือ กูเกิลสามารถพัฒนาอัลฟาโกะได้เร็วกว่าที่คาดไว้ถึง 10 ปี ดังนั้น เมื่อปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ ก็พิสูจน์ว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์ในการพัฒนาอีกต่อไป จนฉลาดกว่าผู้พัฒนาหรือมนุษย์คนอื่นๆบนโลก ดังนั้น จะกล่าวว่า ความพ่ายแพ้นี้เป็นความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติก็อาจไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง เพราะปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะพัฒนาตัวเองไปถึงขั้นไหน หรือในทิศทางใดก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมนุษย์อีกต่อไป

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog