ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นับเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของ GDP โลก ซึ่งไทยเองก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมด้วย แต่การเข้าร่วมข้อตกลงนี้มีผลดีผลเสียอย่างไร
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีมาตรฐานสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในด้านการเปิดตลาดการค้าขาย การบริการและการลงทุน รวมถึงสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศสมาชิกของ TPP ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม โดย TPP นับเป็นข้อตกลงที่จะสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของ GDP โลก
ขณะนี้ข้อตกลง TPP ผ่านขั้นตอนลงนามของชาติสมาชิกทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าสมาชิกแต่ละชาติจะเร่งรัดกระบวนการภายในประเทศตนเองเพื่อที่จะให้ข้อตกลงนี้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว และคาดว่าข้อตกลง TPP จะขยายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศ เช่นเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย ต่างแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงนี้
กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ มองว่าหากไทยไม่เข้าร่วม TPP จะทำให้สูญเสียโอกาสการค้าการลงทุนอย่างมหาศาล
ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานการศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มองว่าหากไทยเข้าร่วมข้อตกลง TPP จะมี 4 เรื่องใหญ่ที่ไทยควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ จึงถือเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องศึกษาผลดีผลเสียและตัดสินใจอย่างรอบคอบ เนื่องจาก TPP อาจเป็นข้อตกลงที่สร้างโอกาสหรืออุปสรรคทางการค้าก็ได้ ซึ่งภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่างก็กำลังเฝ้าติดตามถึงการตัดสินใจและการชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียต่อการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP ของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด