ไม่พบผลการค้นหา
เหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลที่ฟุกุชิมะผ่านไปแล้ว 5 ปีเต็ม รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าทุกอย่างกำลังกลับสู่สภาวะปกติ แต่กรีนพีซกลับเปิดเผยว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฟุกุชิมะ เลวร้ายพอๆกับในเชอร์โนบิล

เหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลที่ฟุกุชิมะผ่านไปแล้ว 5 ปีเต็ม รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าทุกอย่างกำลังกลับสู่สภาวะปกติ แต่กรีนพีซกลับเปิดเผยว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฟุกุชิมะ เลวร้ายพอๆกับในเชอร์โนบิล 

เป็นเวลาครึ่งทศวรรษมาแล้วที่ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและจิตใจของประชาชน ในวันครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามไม่จัดงานรำลึกอย่าเอิกเกริกเพื่อหวังให้เหตุการณ์เลวร้ายทั้งหมดลบเลือนไปจากความทรงจำของประชาชน

แต่ดูเหมือนว่าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ จะไม่เห็นด้วยกับการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียโดยการ "ทำเป็นลืม" และพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างได้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เพราะความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น 

กรีนพีซญี่ปุ่น ยูเครน และรัสเซีย ร่วมกันออกรายงานเรื่อง “รอยแผลนิวเคลียร์: มรดกแห่งเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะที่ยังคงอยู่” เปรียบเทียบหายนะนิวเคลียร์ทั้งสองครั้ง ว่ายังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนนับล้าน แม้ว่าเหตุการณ์กัมมันตรังสีรั่วไหลจะผ่านไปแล้วหลายปี 

กรีนพีซญี่ปุ่นระบุว่าในฟุกุชิมะ คนเกือบแสนคนยังไม่สามารถกลับบ้านได้ และในจำนวนนี้ มีไม่น้อยที่จะไม่มีวันกลับไปอยู่ในบ้านเกิดได้อีกตลอดไป แต่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์และรัฐบาลทั่วโลก กลับพยายามชักจูงในทางที่ผิดว่าผู้คนสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังเกิดอุบัติภัยนิวเคลียร์ ซึ่งกรีนพีซยืนยันว่าการกล่าวอ้างนี้เป็นเพียงวาทะทางการเมือง ไม่ใช่ความจริงทางวิทยาศาสตร์ รัฐบาลของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันว่าฟุกุชิมะพร้อมสำหรับการเข้าอยู่อาศัยแล้ว ทั้งที่ยังมีขยะนิวเคลียร์กว่า 9 ล้านลูกบาศก์เมตรกระจายอยู่รอบๆพื้นที่

ผลการศึกษาของกรีนพีซระบุว่ารัฐบาลได้ลดการป้องกันรังสีทั้งในญี่ปุ่นและในพื้นที่ของประเทศที่มีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล โครงการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารถูกตัดลงในพื้นที่เชอร์โนบิล 30 ปีหลังเหตุการณ์กัมมันตรังสีรั่วไหล ผู้คนกว่า 5 ล้านคนต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนรังสี โดยไม่มีการดูแลใดๆจากรัฐบาล 

ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องการให้คนอพยพออกมาจากบ้านส่วนใหญ่กลับเข้าไปได้ภายในปี 2017 แม้ว่าชุมชนของพวกเขายังมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีอยู่ ทั้งที่เทปโก บริษัทที่รับผิดชอบโรงไฟฟ้ายืนยันว่าจะยังไม่สามารถกำจัดกัมมันตรังสีปนเปื้อนในน้ำและดินได้จนกว่าจะถึงปี 2020 

ผลการการตรวจสอบกัมมันตรังสีตกค้างยังพบว่าพื้นที่ป่ารอบเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะกลายเป็นแหล่งที่มีการสะสมสารกัมมันตรังสี ซึ่งป่าไม้ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเหล่านี้ทำให้ชุมชนใกล้เคียงมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือเกิดการปนเปื้อนขึ้นใหม่

การสำรวจยังพบว่ามีผลกระทบด้านสุขภาพของคนในชุมชนที่ฟุกุชิมะและเชอร์โนบิล ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล อัตราการเสียชีวิตของคนสูงกว่า อัตราการเกิดต่ำกว่า การเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น และปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นในวงกว้าง เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆที่ไม่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อน ในฟุกุชิมะ พบการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเด็ก และเกือบหนึ่งในสามของมารดาที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เตาปฏิกรณ์ถูกทำลายมีอาการซึมเศร้า

กรีนพีซย้ำว่าชีวิตของคนนับล้านที่เปลี่ยนแปลงหลังหายนะภัยฟุกุชิมะและเชอร์โนบิล บ่งบอกว่ารัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และมุ่งหน้าสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยทั้งต่อธรรมชาติและชีวิตของประชาชน 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog