'ภูเก็ต' เป็นจังหวัดที่มีท่าจอดเรือยอร์ชขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง แต่กลับพบว่าปัจจุบัน ยังคงขาดแคลนพนักงานให้บริการทางด้านนี้ ทั้งๆ ที่มีค่าตอบแทนสูง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต จึงจับมือกับภาคเอกชน เปิดหลักสูตร 'ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช' เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็น 'ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก'
นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต เรียนรู้การประกอบ และซ่อมบำรุงรักษาเรือยอร์ช โดยลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือแบบทวิภาคี ระหว่างแผนกงานซ่อมบำรุงเรือ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต กับสถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 20 แห่งในจังหวัดภูเก็ต
โดยตั้งเป้าหมายผลิตบุคลากรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ใน 3 สาขา ได้แก่ งานตัวเรือ คานเรือ มารีน่า งานเครื่องยนต์เรือ และงานไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ภายในเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ท่า��อดเรือยอร์ช หรือมารีน่าขนาดใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตกว่า 10 แห่ง กำลังขาดแคลน
นับตั้งแต่ปี 2549 ที่เปิดสอนหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช จบออกไปแล้วกว่าร้อยคน แต่ก็ยังไม่เพียงต่อต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากการซ่อมบำรุงและดูแลเรือยอร์ช แตกต่างไปจากเรือเดินสมุทรหรือเรือประมงเพื่อการพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ และระบบไฟฟ้าต่างๆ ที่มีความทันสมัย
รวมทั้งยังต้องการคนที่มีความเข้มแข็ง อดทน สู้งาน เพราะต้องทำงานกลางแจ้ง นักศึกษาที่เข้าเรียนในสาขานี้ ล้วนแต่มีบริษัทมาจองตัวไว้เกือบทุกคน เงินเดือนขั้นต่ำในวุฒิ ปวช. เริ่มต้นที่ 12,000 บาท ยังไม่รวมโอที และสวัสดิการอื่นๆ
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือยอร์ช กำลังได้รับความนิยมสูงมาก และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทย
สอดรับกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต ในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก ดังนั้น หลักสูตร 'ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช' ของวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต จึงตอบโจทย์ยุทธศาสตร์นี้ และช่วยทำให้ผู้ประกอบการได้บุคลากรตรงตามความต้องการ
ติดตามประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในรายการ U News
• 'ไฮโซอังกะลุง' เล่นดนตรีไทยผ่านสมาร์ทโฟน
• 'ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช' ขาดแคลน รายได้สูง
• ค่ายก้าวแรกสู่หมอฟัน มศว ครั้งที่ 8
• ประกวดพูดป้องกันการทุจริตกับป.ป.ช.
• กะเทาะเปลือก 'เด็กจบใหม่ 2016'
• U Voice : คุณจะทำศัลยกรรมตอนอายุ 60 ปี ให้เหลือ 35 ปีหรือไม่