ผลงานวิจัยจากมูลนิธิเอลเอลน แมคอาเธอร์ เปิดเผยว่า ประมาณปี 2050 โลกจะมีการใช้พลาสติกมากกว่าปี 2014 ถึง 3 เท่า ซึ่งอาจทำให้เกิดขยะพลาสติกในทะเลจำนวนมหาศาลอาจมีมากกว่าจำนวนปลาทั้งหมดในมหาสมุทรรวมกันเสียด้วยซ้ำ
ปัญหาพลาสติกล้นโลก และขยะพลาสติกในทะเลจำนวนมหาศาล ที่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมานานหลายสิบปีแล้ว และเคยมีการประเมินกันว่าหากนำขยะพลาสติกในทะเลทั้งหมดขึ้นมากองบนฝั่ง ก็จะสามารถสร้างบาริเคดกั้นระหว่างทะเลกับพื้นดินได้อย่างสบายๆ
แต่รายงานการวิจัยจากมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ ที่เปิดเผยล่าสุดใน World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ กลับนำเสนอความจริงที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น นั่นก็คือหากมนุษย์ยังใช้พลาสติกในปริมาณมากเช่นนี้ ภายในปี 2050 จำนวนขยะพลาสติกในทะเล จะมีมากถึงกว่า 24 ล้านตัน มากกว่าจำนวนปลาทั้งหมดในมหาสมุทรหากเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์
จากรายงานดังกล่าว การใช้พลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่าในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้ในปี 2050 เราจะผลิตพลาสติกมากกว่าในปี 2014 ถึงกว่า 3 เท่า นอกจากนี้ยังไม่มีใครสนใจจะรีไซเคิลพลาสติกเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก โดยในปัจจุบัน ร้อยละ 70 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาในโลก ลงเอยอยู่ตามที่ทิ้งขยะหรือแหล่งน้ำ
ก่อนหน้านี้ รายงานจาก Ocean Conservancy และ McKinsey Center for Business and Environment หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เปิดเผยว่าจีน ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นผู้ปล่อยขยะพลาสติกกว่าร้อยละ 60 ของโลกลงสู่มหาสมุทร