จิตรกรรมบนบานหน้าต่างในอุโบสถ วัดบางขุนเทียนนอก สะท้อนให้เห็นเสื้อผ้าอาภรณ์ของคู่ชายหญิง ต่างชาติต่างภาษา ในราชอาณาจักรสยาม เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3
วัดบางขุนเทียนนอก แขวงจอมทอง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแน่ชัด ตามข้อมูลของกรมการศาสนา พระอารามแห่งนี้สร้างเมื่อราวพ.ศ.2246 ซึ่งอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า วัดยมโลก
อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาด 7 ห้อง หลังคาซ้อนชั้น ชั้นลด 3 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาบังสาด หรือที่เรียกว่า จันหับ
อุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตู 4 ด้าน และมีเจดีย์ทรงปรางค์ประจำมุม องค์เจดีย์มีลักษณะโปร่งเพรียว อันเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบัน พื้นเดิมของโบสถ์อยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นของพระอารามโดยรอบ
หน้าบันเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับด้วยเครื่องเคลือบกระเบื้องสีแบบจีน แสดงภาพธรรมชาติ
เสาหลังคาบังสาดประดับบัวหัวเสา ชายคามีคันทวยรับน้ำหนัก อันเป็นแบบไทยประเพณี ขณะที่ซุ้มประตูประดับปูนปั้น มีลวดลายสอดคล้องกับหน้าบัน อันเป็นศิลปกรรมอย่างเทศ
จิตรกรรมฝาผนังชำรุดมาก ส่วนที่ยังเหลือบนผนังเหนือช่องประตูด้านหลังพระประธาน เขียนเรื่องพุทธประวัติ สันติ เล็กสุขุม (2548) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ให้ความเห็นว่า ภาพส่วนนี้คงเก่าถึงรัชกาลที่ 3
บนผนังด้านข้าง ระหว่างช่องหน้าต่าง เคยมีภาพเขียน แต่ชำรุดเสียหายหมดแล้ว
พื้นที่เหนือช่องหน้าต่าง วาดภาพกิจของสงฆ์ ฝีมือด้อยกว่าภาพพุทธประวัติด้านหลังพระประธาน เชื่อว่าเป็นงานเขียนซ่อมแทนที่จิตรกรรมเดิม ซึ่งอาจเป็นเรื่องพุทธประวัติมาก่อน
จุดเด่นของงานจิตรกรรมที่วัดบางขุนเทียนนอก อยู่ที่บานหน้าต่างด้านในของอุโบสถ เขียนเป็นภาพชาวต่างชาติต่างภาษา แต่ละบานเขียนเป็นภาพบุรุษกับสตรีคู่กัน บางคู่เป็นภาพคนชนชาติเดียวกัน บางคู่เป็นคนต่างชนชาติ
สตรีชาวเกาหลี กับบุรุษชาวอาหรับ : สตรีสวมเสื้อคลุมยาวปิดข้อมือ ภาพอาจเขียนตามคำบอกเล่าของชาวจีน หรือมิชชันนารีชาวอเมริกันในไทยที่ได้ไปเกาหลีในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 บุรุษโพกศีรษะด้วยผ้าสีแดงไขว้ไปมา สวมเสื้อคลุมยาวเกือบถึงข้อเท้า ลายผ้าคล้ายดอกไม้ นุ่งกางเกงคล้ายเป็นจีบ มือซ้ายถือวัตถุซึ่งอาจเป็นอาวุธ
สตรีกับบุรุษชาวดอดชิ : ชาวดอดชิ หรือชาวดัทช์ ในภาพ แต่งกายอย่างสมัยพุทธศตวรรษที่ 24 สตรีมีผมสีแดง สวมเสื้อแดงแขนยาว ปลายแขนบริเวณข้อมือเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม มีผ้าแถบคาดผ่านไหล่ สวมกระโปรงลายตาราง อุ้มเด็กไว้ในอก บุรุษไว้ผมยาวดัดเป็นลอน สวมหมวกแบบปีก มีขนนกปักด้านหน้า 2 อัน สวมเสื้อคลุมยาวระดับสะโพก ปลายแขนเสื้อพับเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม สวมกางเกงสีแดง ลายทางตรง รัดปลายระดับเข่า
สตรีชาวไทยกับบุรุษชาวไทย : สตรีห่มผ้าโปร่งพาดไหล่ซ้าย นุ่งผ้ายาวถึงข้อเข่า ที่ส่วนเอวพับเป็นขอบหนา ทิ้งชายด้านหน้าเป็นรูปหางปลาเช่นเดียวกับชายผ้าด้านล่าง ใส่ต่างหูทองคำ สันนิษฐานว่าเป็นสตรีที่ร่ำรวย บุรุษไม่สวมเสื้อ มีผ้าพาดที่ไหล่ซ้าย นุ่งผ้าสีแดงลายดอกสี่กลีบตลอดผืน ทิ้งชายผ้าออกจากเอวเล็กน้อย เรียกว่านุ่งผ้า 'อัตลัต' คือ เป็นลายทอหรือลายดอกแกมเส้นเงิน-ทอง บ่งบอกว่าเป็นผู้มีสกุลเช่นเดียวกัน
สตรีชาวลาวยวนกับบุรุษชาวจาม : สตรีไว้ผมมวย แต่งกายมิดชิด ใส่เสื้อแขนยาว นุ่งผ้ากรอมเท้า บุรุษผูกผ้าที่ปลายผมเป็นจุกแหลม สวมเสื้อสีแดงแขนยาวถึงข้อมือ กระดุมเสื้อเรียงถี่ นุ่งผ้าคล้ายผ้าถุง ในภาพเดิมนั้น ที่มือขวาอาจถืออาวุธ
สตรีชาวกระแช กับบุรุษชาวแอฟริกัน : สตรีสวมเสื้อสีเขียวคล้ายชุดกะเหรี่ยง เสื้อยาวเลยเอวเล็กน้อย ทับกระโปรงสั้นสีขาวลายตรง สวมสร้อยคอลูกปัด มือซ้ายถือกล้องยาสูบที่กำลังคาบไว้ที่ปาก เจาะหูและใส่ต่างหู มีเด็กเล็กเกาะอยู่ที่ขา กระแชเป็นพวกชาวป่าชาวเขา คนไทยไม่เคยมีความสัมพันธ์กับชนชาตินี้ เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากเชลยพม่าสมัยรัชกาลที่ 1 บุรุษมีผิวกายสีเข้ม ใส่ต่างหูคล้ายท่อนไม้ขนาดเล็ก นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว เหน็บเคียวไว้ที่เอว มือซ้ายถือไม้ไผ่ยาวปลายแหลม ภาพนี้อาจเขียนโดยอาศัยคำบอกเล่าของมิชชันนารีสมัยรัชกาลที่ 3 หรือของชาวไทยที่ได้เห็นชาวแอฟริกันเมื่อไปค้าขายที่อินเดีย
สตรีชาวหุ้ยหุย กับบุรุษชาวแขกปะถ่าน : สตรีสวมชุดรัดรูป แขนยาวถึงข้อมือ ชุดแต่งกายยาวเกือบถึงข้อเท้า ไม่ปรากฏลวดลายผ้า ไม่ปรากฎหลักฐานว่าคนไทยเคยเห็นชนชาตินี้โดยตรง แต่น่าจะทราบจากคำบอกเล่าของชาวจีน ว่าเป็นพวกนับถือศาสนาอิสลาม อยู่ในประเทศตุรกีในบริเวณที่ติดต่อกับประเทศจีน บุรุษมีผิวกายสีเข้ม ไม่สวมเสื้อ มีผ้าพาดไหล่ทั้งสองข้าง นุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบน ลายผ้าคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนย่อมุมสลับไปมาทั้งผืน
พราหมณ์รามเหศร์กับสตรี : พราหมณ์ถือสังข์ เป็นผู้รอบรู้ในพระราชพิธีต่างๆ สตรีในภาพ ไม่อาจระบุชนชาติได้
ภาณุพงษ์ ชงเชื้อ (2549) ให้ข้อสันนิษฐานว่า ภาพเหล่านี้คงจะได้รับอิทธิพลมาจากจิตรกรรมภาพสิบสองภาษา ที่บานประตูหน้าต่างศาลาราย จำนวน 16 หลัง ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
ภาพสิบสองภาษา ที่วัดบางขุนเทียนนอกนี้ ภาณุพงษ์ รายงานว่า บนบานหน้าต่างทั้ง 28 บานเปิด (14 ช่องหน้าต่าง) ของพระอุโบสถ ปรากฏภาพบุคคลซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชนชาติต่างๆ นับได้ 22 ชาติ และไม่สามารถระบุได้อีก 1 ชาติ
จิตรกรรมเหล่านี้คงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถ ทั้งนี้ ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นผลงานการลงสีและตัดเส้นเป็นการซ่อมแซม เนื่องจากภาพเดิมลบเลือนมาก.
เอกสารอ้างอิง
ภาณุพงศ์ ชงเชื้อ. (2549). ภาพสิบสองภาษาที่บานหน้าต่างอุโบสถวัดบางขุนเทียนนอก. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
สันติ เล็กสุขุม. (2548). จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 : ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
สมลักษณ์ คำตรง. (2550). ภาพชาวต่างชาติในงานจิตรกรรมไทยประเพณี ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24. วิทยานิพนธ์ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี