ไม่พบผลการค้นหา
‘เศรษฐา’ ตรวจพื้นที่สร้างท่าเทียบเรือสำราญ สมุย - สั่งดันเข้า ครม.ให้ทันปีใหม่เป็นของขวัญให้คนสุราษฎร์

วันที่ 7 เม.ย. ภารกิจการเดินทางตรวจราชการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเกาะสมุย) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ,สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ,ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ,หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ,จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ แหลมนิคม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุรินทร์ โดยนายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยรถยนต์โตโยต้า alphard สีขาว ทะเบียน ขง 4 สุราษฎร์ธานี 

เมื่อเดินทางมาถึงนายกรัฐมนตรี ได้ทักทาย สส. สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ อาทิ พิพิธ รัตนรักษ์ สส.สุราษฎร์ธานี เขต 2 ,พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สส.บัญชีรายชื่อ ,วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.เขต3 ขณะเดียวกันมี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอเกาะสมุย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับเมื่อคณะนายกฯ เดินทางถึงได้ร่วมถ่ายภาพกับ อสม. พร้อมรับฟังการดำเนินโครงการจาก กริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า 

ทั้งนี้ระหว่างรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนะนำให้ เปิด Duty Free หลังจากที่ท่าเทียบเรือเสร็จเรียบร้อย เพื่อเป็นการบริการนักท่องเที่ยว เสริมรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เกาะสมุยทั้งภาคเกษตรและการท่องเที่ยว หากดูจากตัวเลขเรือสำราญที่เข้ามาตอนที่สูงสุดปี 2561 ประมาณ 74 ลำ ปีนี้ไตรมาสแรกมีเรือเข้ามาแล้วครึ่งหนึ่งแล้ว คาดว่าปีนี้น่าจะมีสถิติสูงสุดโดยพี่น้องชาวสมุยอยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทั้งนี้อยากให้ เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสิ้นปีนี้ และตั้งเป็น KPI เพื่อเป็นของขวัญ ให้กับชาวสมุยจังหวัด สุราษฎร์ธานี

นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกริ่นมาแล้วอยากให้มีเรื่องมารีน่า (ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือยอชต์) นั้น น่าจะทำได้เหมาะกับการให้นักท่องเที่ยวมาเหมือนภูเก็ต สิมิลัน และอยากจะให้ทำเกี่ยวกับเรื่องเครื่องบินน้ำด้วย เพื่อบินจาก เกาะต่าง ๆ มาจุดนี้ได้ เพราะแถวนี้มีเกาะท่องเที่ยวหลายเกาะ ซึ่งต้องทำให้ครบวงจร บริการนักท่องเที่ยว ให้เป็น top 10 ของโลกให้ได้

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับ สส.ในพื้นที่ และเรียกผู้ว่าฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้ามาหารือพร้อมสั่งการว่า การเดินทางมาในวันนี้ไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ ต้องมีการสั่งการที่ชัดเจน ช่วยกัน และขอให้สส.ช่วยกันโปรโมตเกาะสมุย หลังการสร้างท่าเรือแล้ว ควรเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งเรื่องของวัด และมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ โดยขอให้สส.ร่วมมือกับทาง ททท. จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เรียกผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้ามาสั่งการ

พร้อมระบุว่า สมุยนอกนอกจากจะมี sun sea sand แล้ว เรายังมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ตนในฐานะนักท่องเที่ยวเองก็เชื่อว่าจะมีอย่างอื่นเข้ามาประกอบ ซึ่งเวลาคนละแบบที่มาเที่ยว อยากท่องเที่ยวในทุกๆ ด้าน ทั้งวัฒนธรรม อาหาร และภูมิทัศน์ อยากให้นักท่องเที่ยวอยู่ยาวมากขึ้น จำนวนคนที่มาไม่สำคัญเท่าระยะเวลาที่อยู่ เพราะหากอยู่นานก็จะยิ่ง ใช้จ่ายเยอะขึ้น เศรษฐกิจพื้นที่ก็จะฟื้นตัวมากขึ้น และเมื่อเราลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหมื่นๆล้าน ก็อย่าลืมรูปฝักอยากให้นักท่องเที่ยวอยู่นานไม่ใช่มาแป๊ปเดียวแล้วก็กลับ คือ สส.ทุกคนต้องช่วย ตรงนี้ด้วย ร่วมมือกับฝ่ายท่องเที่ยว ขอฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ บริเวณแหลมนิคมอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดจากการที่เรือสำราญขนาดใหญ่ ไม่สามารถ เข้าเทียบท่าที่เกาะสมุยได้ กรมเจ้าท่าจึงเสนอโครงการนี้ขึ้นมา เป็นโครงการบนพื้นที่ 47-3-6 ไร่ ประกอบด้วยสะพานขึง อาคารบริการและที่จอดรถ ถนนสาธารณะ อาคารผู้โดยสาร 3 ชั้นและท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และเรือยอร์ช ซึ่งมูลค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ จำนวน 12,172 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 180,000 คนต่อปี รองรับเรือสำราญ 120 เที่ยวเรือต่อปี และคาดว่านักท่องเที่ยวจะใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคน มีมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอโครงการ ปี 2567-2570 พร้อมศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และการลงทุนร่วมกับเอกชน (PPP) ในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2570-2572 ระยะเวลา 3 ปี และพร้อมให้บริการในปี 2572 โดยมีสัญญาเบื้องต้น 30 ปี