ไม่พบผลการค้นหา
ครม. เห็นชอบโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 คพ.ประสาน ภาครัฐ เอกชนและประชาชน สู่เป้าหมาย ลด-เลิกใช้ขยะพลาสติก

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เสนอวาระ เรื่อง โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในคราวการประชุม ครั้งที่ 16/2562 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบ (ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ตามที่ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อเป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการของหน่วยงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ กำหนดไว้ตาม ร่าง Roadmap โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 

นายประลอง กล่าวว่าโรดแมป การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ประกอบ 2 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1 การลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ชนิด ดังนี้

  • เลิกใช้ภายใน ปี 2562 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 1) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (plastic bottle cap seal) 2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (oxo) 3) ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) 
  • เลิกใช้ภายใน ปี 2565 จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนา <36 ไมครอน 2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3) แก้วน้ำพลาสติก (แบบบาง) 4) หลอดพลาสติก (หลอดเครื่องดื่มทั่วไป) 

เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 

นายประลอง กล่าวว่า การดำเนินการภายใต้โรดแมป แบ่งการดำเนินการเป็น 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด 2.มาตรการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว(Single-use Plastic) ณ ขั้นตอนการบริโภค 3.มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยการสนับสนุนส่งเสริมให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อไป รวมทั้งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามร่างโรดแมปนทุกภาคส่วน ตลอดจนมีการกำหนดกลไกต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน 

อาทิ สร้างความรู้ ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน ผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความร่วมมือแบบบูรณาการในการดำเนินงาน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การส่งเสริมสนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ความมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยจะมีการศึกษาและกำหนดเป้าหมายของการใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ สำหรับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ก็จะถูกนำไปกำจัดให้ถูกวิธีต่อไป