วันที่ 9 ต.ค. 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตเหตุสังหารหมู่ศูนย์เด็กเล็ก ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ที่มีปัจจัยอื่นเกินกว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล พร้อมเชื่อมโยงกับกรณีทหารกราดยิงประชาชนในตัวเมืองนครราชสีมาเมื่อปี 2563 ว่ากรณีกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กกับปัญหาเชิงระบบ กรณีกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก ที่หนองบัวลำภูเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจและเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอความเห็นในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง รัฐบาลไม่ควรมองการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการโจมตีทางการเมือง แต่ควรรับฟังและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อเกิดเหตุการณ์สยดสยองแบบนี้ขึ้น บางประเทศเขาจะมีแนวปฏิบัติสำหรับการเผยแพร่ภาพที่สยดสยองและการกล่าวถึงการกระทำที่โหดร้ายที่ไม่ให้เกิดความหดหู่เศร้าหมองหรือพฤติกรรมเลียนแบบ ที่หลายประเทศมักทำกันคือการตั้งคณะบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อทำเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลนำไปใช้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานเล็กๆจุดใดจุดหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของระบบที่มีหลายเรื่องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ ที่สำคัญเช่น
1.การแก้ปัญหายาเสพติดที่มีการค้าขายกันอย่างมากมายทั่วประเทศและมักปรากฏผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเกี่ยวข้องด้วย จะยกเครื่องกันอย่างจริงจังได้อย่างไร
2.แนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ให้ถือว่าผู้เสพคือผู้ป่วยในความเป็นจริงมีปัญหาอย่างมากคือไม่มีการบำบัดดูแลจริง แต่กลับถูกขังคุกเสียจำนวนมาก ต้องแก้ไขปรับปรุง จึงจะทำให้การแก้ปัญหายาเสพติดไม่ล้มเหลวอย่างที่เป็นอยู่
3.ระบบและมาตรการป้องกันและระงับเหตุการณ์ความรุนแรงที่รวดเร็วทันการณ์ในสถานศึกษาทุกระดับ
4.ปัญหาทหารตำรวจใช้อาวุธกระทำรุนแรงต่อประชาชนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
5.เงื่อนไขในการอนุญาตไม่อนุญาตให้มีอาวุธปืนในครอบครองสำหรับผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติด
6.พฤติกรรมเลียนแบบในการฆ่าคนในครอบครัวแล้วฆ่าตัวตายซึ่งเกิดขึ้นซ้ำๆ
เมื่อครั้งที่เกิดกรณีทหารใช้อาวุธยิงคนในศูนย์การค้าที่โคราช ไม่ปรากฏว่ามีการศึกษาสรุปบทเรียนอะไร ในครั้งนี้ รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอีก