ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ค.) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้คำมั่นว่าจีนจะเดินตามเส้นทางของตัวเองในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเรือนกระจก ในขณะที่ จอห์น เคอร์รี ผู้แทนด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนมีการดำเนินการดังกล่าวที่เร็วขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการเยือนกรุงปักกิ่งครั้งล่าสุด

สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนรายงานว่า สีกล่าวต่อที่ประชุมระดับชาติ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมว่า พันธสัญญาของจีนต่อเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกำหนดให้มีการปล่อยคาร์บอนสูงสุดได้ภายในปี 2573 และนำพาประเทศสู่ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2603 นั้น "ไม่เปลี่ยนแปลง"

“แต่เส้นทาง วิธีการ ความเร็ว และความเข้มข้นในการบรรลุเป้าหมายนี้ ควรและต้องถูกกำหนดโดยตัวเราเอง และจะไม่ได้รับอิทธิพลจากผู้อื่น” สีกล่าวย้ำ 

ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่เคอร์รีเข้าพบกับ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และ หวังอี้ นักการทูตชั้นนำของจีนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นผู้ปล่อยมลพิษ 2 รายใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มการเจรจาเรื่องสภาพอากาศที่ยืดเยื้อมานาน ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่แผดเผาทั่วโลก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า ในการประชุมกับหลี่ เคอร์รีเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จีนจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และลดการตัดไม้ทำลายป่า 

เคอร์รียังเรียกร้องให้จีน “ดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับเป้าหมายด้านสภาพอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตด้านสภาพอากาศ”

จีนได้มีการลงทุนในด้านพลังงานสะอาดอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันนี้ จีนมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกัน และจีนยังเป็นผู้นำของโลกในด้านพลังงานลมและยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ในทางกลับกัน จีนได้เร่งอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ เนื่องจากการมุ่งเน้นที่ "ความมั่นคงทางพลังงาน" ซึ่งสร้างความกังวลให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า โครงการใหม่เหล่านี้จะทำให้การเปลี่ยนผ่านออกจากการใช้ถ่านหินช้าลงและยากขึ้น

แต่คำพูดของสีในการประชุมชี้ให้เห็นว่า จีนไม่มีความปรารถนาที่จะถูกผลักดัน หรือถูกมองว่าต้องยอมจำนนต่อแรงกดดัน โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ

จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นสองประเทศ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ดังนั้นความพยายามใดๆ ในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะต้องเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซอย่างจริงจังจากประเทศมหาอำนาจทั้งสองนี้

อย่างไรก็ดี การปล่อยมลพิษของจีนมีมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า แต่ในอดีตนั้น สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

จีนและประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วประเทศอื่นๆ ถกเถียงกันมานานแล้วว่า ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางตะวันตก ได้กลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งได้ ในขณะที่พวกเขาปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมหาศาลออกมานานหลายทศวรรษ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปี โดยสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมีเรื่องบาดหมางกันหลายประเด็น ตั้งแต่ภูมิรัฐศาสตร์ไปจนถึงการค้าและเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กล่าวว่าความร่วมมือด้านสภาพอากาศกับจีนควรเป็นประเด็นเดี่ยว แยกจากข้อพิพาทของพวกเขา ในขณะที่จีนมองต่างออกไป โดยเมื่อปีที่แล้ว จีนได้ตัดการเจรจาเรื่องสภาพอากาศกับสหรัฐฯ เพื่อประท้วงการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่เลวร้ายที่สุดที่จีนเคยเผชิญในรอบ 6 ทศวรรษ

นอกจากนี้ จีนยังยุติความร่วมมือในประเด็นร่วมกันอื่นๆ กับสหรัฐฯ รวมถึงการสื่อสารระหว่างกองทัพและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ความแตกต่างในมุมมองดังกล่าวได้แสดงให้เห็นอย่างเต็มรูปแบบในกรุงปักกิ่ง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะกลับไปที่โต๊ะเพื่อเริ่มการเจรจาใหม่ โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เคอร์รีพบกับหวัง นักการทูตระดับสูงของจีน ทั้งนี้ เคอร์รีย้ำว่าทั้งสองประเทศ “ไม่สามารถปล่อยให้ความแตกต่างทวิภาคี มาขัดขวางความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม” เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสภาพอากาศ

แต่หวังยืนยันว่าความร่วมมือนี้ “ไม่สามารถแยกออกจากบรรยากาศภาพรวม ของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ” โดยเขาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ดำเนิน “นโยบายที่มีเหตุผล ปฏิบัติได้ และเป็นบวกต่อจีน” และ “จัดการกับปัญหาไต้หวันอย่างเหมาะสม” ทั้งนี้ จีนได้อ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่มีอำนาจปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย

รายงานจากสำนักข่าว Reuters ระบุว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 ก.ค.) เคอร์รีกล่าวย้ำต่อ หานเจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน ว่าสภาพอากาศควรได้รับการจัดการแยกจากประเด็นทางการทูตในวงกว้าง

แม้จะตระหนักถึงปัญหาทางการทูตระหว่างทั้งสองฝ่ายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เคอร์รีกล่าวว่าสภาพอากาศควรได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นความท้าทายแบบ “เป็นอิสระจากปัจจัยอื่นๆ” ซึ่งต้องใช้ความพยายามร่วมกันของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในการช่วยกันแก้ไข


ที่มา:

https://www.cnn.com/2023/07/19/china/china-xi-carbon-climate-kerry-intl-hnk